คุมยา ยาคุม (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

คุมยา ยาคุม

นอกจากนี้ยาคุมอาจมีผลต่อระดับคลอเรสเตอรอลด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาคุมและความเข้มข้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโพรเจสทิน โดยยาคุมที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนที่มากอาจมีผลดีต่อระดับไขมันในเลือดได้เล็กน้อย

หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายได้ เช่น โรคตับ (Liver disease) โรคถุงน้ำดี (Gallbladder disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หลอดเลือดตีบ (Blood clots) ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ

  • ปวดช่องท้อง
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • สายตาพร่ามัว
  • ขาบวมหรือปวดขา

ผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถกินยาคุมได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ที่สูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ได้ แต่หากไม่ได้สูบบุหรี่ ก็สามารถใช้ยาได้จนถึงวัยหมดประจำเดือน (Menopause) นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาคุมในกรณี

  • มีหลอดเลือดตีบที่แขน ขา หรือปอด
  • เป็นโรคหัวใจหรือโรคตับที่ร้ายแรง
  • เป็นมะเร็งที่เต้านมหรือมดลูก
  • มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้
  • เป็นไมเกรนที่เห็นแสง (Migraines with aura)

ทั้งนี้ ยาบางชนิดอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ยาที่ใช้รักษาโรคชัก (Antiseizure meds)

ส่วนการหยุดกินยาคุมสามารถทำได้ทุกเมื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกทางช่องคลอด และอาจจะทำให้รอบเดือนเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ มีรายงานวิจัยที่เสนอแนะว่าการใช้ยาคุมในระยะเวลาที่นานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) และ มะเร็งตับ (Liver cancer)

ในขณะเดียวกันก็อาจลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)

แหล่งข้อมูล

1. Birth Control Pills. http://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-pills [2015, October 8].

2. Birth control pill FAQ: Benefits, risks and choices. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/birth-control/in-depth/birth-control-pill/art-20045136 [2015, October 8].