คุณรู้จักวัคซีนดีหรือยัง (ตอนที่ 3)

คุณรู้จักวัคซีนดีหรือยัง-3

อย่างไรก็ดี วัคซีนชนิดตัวเป็นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากเชื้อยังมีชีวิตอยู่ เชื้อจึงสามารถเปลี่ยนแปลง (Mutate) และอาจกลายเป็นพิษจริงและทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นวัคซีนชนิดนี้จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลาย เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัด หรือผู้ที่ติดเชื้อเฮชไอวี เป็นต้น

ข้อจำกัดอย่างอื่นของวัคซีนชนิดตัวเป็นก็คือ ต้องแช่เย็นเพื่อให้เชื้อมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากต้องมีการสั่งจากต่างประเทศหรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีตู้เย็นแล้ว คงไม่เหมาะสำหรับการวัคซีนชนิดนี้

วัคซีนชนิดตัวเป็นเหมาะแก่การทำจากเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles) โรคคางทูม (Mumps) และโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เพราะเป็นเชื้อที่ควบคุมได้ แต่ไม่เหมาะกับการทำจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเชื้อที่ควบคุมได้ยาก

วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccines / Killed Vaccine) เป็นวัคซีนวิธีการแรกๆ ที่นำมาใช้ในการผลิตวัคซีน ซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์ตายทั้งตัวหรือส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นแอนติเจน

วัคซีนชนิดนี้ผ่านการเลี้ยงเชื้อในสภาวะที่มีความรุนแรงสูงและนำจุลินทรีย์มาฆ่าด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้ความร้อน การใช้แสงอัลตราไวโอเลต และการใช้สารเคมี

วัคซีนชนิดนี้ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ทำให้ขนส่งได้ง่าย แต่การใช้วัคซีนชนิดนี้จะต้องมีปริมาณการใช้ที่สูง เนื่องจากเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ตายแล้วและไม่อาจเพิ่มปริมาณในร่างกายผู้รับการฉีดวัคซีนได้ รวมถึงการออกฤทธิ์วัคซีนประเภทนี้จะสั้น อย่างไรก็ดี สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้สารจำพวกแอตจูแวนต์ (Adjuvant) หรือใช้วิธีการฉีดกระตุ้นให้ระดับแอนติบอดีสูงพอที่จะป้องกันโรคได้

ซับยูนิตวัคซีน (Subunit Vaccines) เป็นวัคซีนที่นำส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลินทรีย์มาทำเป็นวัคซีน แทนที่จะทำจากจุลินทรีย์ที่ตายทั้งตัว วัคซีนในกลุ่มนี้ มักมีปฏิกิริยาหลังฉีดน้อย เช่น วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนฮิบ (Haemophilus influenza type b) วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular pertussis vaccine) วัคซีนไข้ไทฟอยด์ชนิดวีไอ (Vi vaccine) วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccines)

ท๊อกซอยด์ (Toxoid Vaccines) ใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้เกิดจากตัวแบคทีเรียโดยตรง ผลิตโดยนำพิษของแบคทีเรียมาทำให้สิ้นพิษ (Toxoid) แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่ายการสร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่น วัคซีนคอตีบ (Diphtheria) วัคซีนบาดทะยัก (Tetanus)

โดยทั่วไปเมื่อฉีดท๊อกซอยด์จะมีไข้หรือปฏิกิริยาเฉพาะที่เล็กน้อย แต่ถ้าเคยฉีดมาแล้วหลายครั้ง หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ก่อนแล้ว อาจเกิดปฎิกิริยามากขึ้นทำให้มีอาการบวม แดง เจ็บบริเวณที่ฉีดและมีไข้ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Vaccines. https://www.vaccines.gov/basics/index.html [2017, November 21].
  2. Vaccine Schedule for Infants and Toddlers. http://www.healthline.com/health/vaccinations/infant-immunization-schedule#takeaway4 [2017, November 21].