คีเลชั่นบำบัด (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

คีเลชั่นบำบัด

แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าการรักษานั้นมีประสิทธิผล แต่เนื่องจาก EDTA สามารถลดปริมาณของแคลเซียมในกระแสเลือดได้ แพทย์บางท่านจึงแนะนำ ให้ผู้ป่วยทำคีเลชั่นบำบัดเพื่อชะล้างธาตุต่างๆ ที่เกาะอยู่ในหลอดเลือด

อย่างกรณีของโรคหลอดเลือดตีบแข็ง (Atherosclerosis / coronary artery disease) ซึ่งน่าจะได้ผลและค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเลือกผ่าตัดบายพาส (Coronary bypass surgery) การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Angioplasty) และวิธีอื่นๆ ที่ช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด

แพทย์บางรายยังกล่าวว่า คีเลชั่นบำบัดสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้ด้วย เพราะสามารถกำจัดสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษออกจากร่างกาย ป้องกันไม่ให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการทำลายเซลล์

คีเลชั่นบำบัดยังใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคต่างๆ อีกด้วย เช่น เนื้อตาย (Gangrene) ไทรอยด์ผิดปกติ (Thyroid disorders) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) โรคกล้ามเนื้อลีบ (Muscular dystrophy) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคข้ออักเสบ (Arthritis) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ทั้งยังช่วยพัฒนาความจำ การเห็น การได้ยิน และการได้กลิ่น

มีผู้ป่วยหลายรายที่พบว่า หลังการทำคีเลชั่น อาการอักเสบเรื้อรังอย่างโรคข้ออักเสบ (Arthritis) โรคลูปัส (Lupus) และ โรคหนังแข็ง (Scleroderma) มีอาการปวดน้อยลง

อย่างไรก็ดี การทำคีเลชั่นบำบัดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ไตถูกทำลาย หัวใจเต้นผิดปกติ และหลอดเลือดบวม นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

และเนื่องจากคีเลชั่นบำบัดได้กำจัดแร่ธาตุต่างๆ ออกจากร่างกายด้วย จึงมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) และกระดูกถูกทำลาย

ทั้งนี้ มีข้อห้ามสำหรับ เด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ผู้ที่เป็นโรคตับ ว่า ไม่ควรทำคีเลชั่นบำบัด

เนื่องจากมีกรณีที่เกิดขึ้นในหลายปีมาแล้วว่า การให้สารในคีเลชั่นปริมาณที่มากมีส่วนสัมพันธ์กับการทำลายไต หัวใจเต้นผิดปกติ หรือแม้แต่กรณีที่มีการลดปริมาณยาลง ก็ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียขึ้นได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ เป็นผื่นคัน น้ำตาลในเลือดต่ำ และหลอดเลือดดำอักเสบมีลิ่มเลือด (Thrombophlebitis)

องค์การหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เช่น สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (The American Heart Association) สมาคมแพทย์แห่งอเมริกา (The American Medical Association) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (The Centers for Disease Control and Prevention) สมาคมเกี่ยวกับการรักษาโรคกระดูกและกล้ามเนื้อของอเมริกา (The American Osteopathic Association) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมมริกา (FDA) ก็ยังไม่ได้เปิดเผยถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุชัดเจนว่าคีเลชั่นบำบัดสามารถใช้ได้ผลกับโรคอื่น

มีแต่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาที่รับรองเพียงแค่ว่า คีเลชั่นบำบัดสามารถใช้ในการรักษาพิษของสารตะกั่วได้ โดย EDTA ที่ฉีดเข้าในร่างกายจะจับกับโลหะหนักและขับออกผ่านทางไต

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีหลักฐานทางการรักษาที่แน่ชัด การรักษาใดๆ จึงควรศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียก่อนรับการรักษา

แหล่งข้อมูล

1. Chelation Therapy. http://www.webmd.com/balance/tc/chelation-therapy-topic-overview [2014, July 29].
2. Chelation Therapy. http://www.cancer.org/treatment/treatmentsandsideeffects/complementaryandalternativemedicine/pharmacologicalandbiologicaltreatment/chelation-therapy [2014, July 29].