คิดไม่ตก วิตกจริต (ตอนที่ 2)

คิดไม่ตกวิตกจริต-2

      

      นายแพทย์กิตต์กวียังได้แนะนำถึงผู้ที่กำลังมีอาการวิตกกังวลในขณะนี้ว่ามีวิธีช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ดังนี้

      1. พักผ่อนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงหรืองดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้

      2. รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยารักษาโรคหรือสมุนไพรต่างๆตามร้านขายยาทั่วไปควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

      3. ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และรู้จักการปล่อยวาง ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น

      ประการสำคัญญาติหรือคนรอบข้าง ควรทำความเข้าใจว่าอาการของผู้ป่วยไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำหรือคิดมากไปเอง ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกาย และเกี่ยวกับพื้นฐานสุขภาพจิตของแต่ละบุคลด้วย จึงควรเข้าอกเข้าใจและให้กำลังใจผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว ซึ่งสามารถรักษาได้และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิมได้

      การวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บางคนอาจพบกับปัญหา การทำงาน ก่อนสอบ หรือก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญ แต่สำหรับโรควิตกกังวล (Anxiety disorders) แล้ว เป็นมากกว่าความกลัวหรือความกังวลชั่วคราว เพราะคนที่เป็นโรควิตกกังวล จะกังวลไม่หายและอาจเป็นมากขึ้น

      โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) แบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด คือ

      1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder = GAD) เป็นโรควิตกกังวลที่เรื้อรัง วิตกกังวลและเครียดเกินเหตุ แม้ว่าจะมีเรื่องเล็กน้อยหรือไม่มีอะไรมากระตุ้นก็ตาม เป็นชนิดที่พบมากที่สุด โดยผู้ที่เป็นก็ไม่สามารถหาสาเหตุของการเป็นได้เสมอไป

      2. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder = OCD) คิดหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เป็นโรควิตกกังวลที่มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น ล้างมือบ่อยๆ นับแล้วนับอีก ทำความสะอาดแล้วทำอีก

      3. โรคแพนิค (Panic disorder) เป็นความกลัวที่อาจเกิดพร้อมอาการทางร่างกาย เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น (Heart palpitations) หายใจลำบาก (Shortness of breath) เวียนศีรษะ (Dizziness) หรือ ปวดท้อง (Abdominal distress) ซึ่งโรคแพนิคมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและพีคสุดหลังเป็นได้ 10 นาที และใช้เวลานานนับชั่วโมงกว่าจะหาย

      4. โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder = PTSD) เป็นโรควิตกกังวลที่เกิดขึ้นหลังพบกับเหตุการณ์ที่น่ากลัว เช่น การถูกประทุษร้าย ถูกภัยพิบัติ เกิดอุบัติเหตุ หรือการสู้รบทางทหาร

      5. โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia / Social Anxiety Disorder) เป็นโรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม เช่น กลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชน กลัวการกินหรือดื่มต่อหน้าคนอื่น หรือกรณีที่แย่ที่สุดคือ มีความวิตกกังวลเกือบทุกเวลาเมื่อถูกห้อมล้อมด้วยคนอื่น

      ซึ่งต่อไปจะขอกล่าวเฉพาะโรควิตกกังวลทั่วไป

      

แหล่งข้อมูล:

  1. กังวล คิดฟุ้งซ่าน กลัวเกินเหตุ' ให้พบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง. http://www.thaihealth.or.th/Content/44775-กังวล คิดฟุ้งซ่าน กลัวเกินเหตุ' ให้พบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง.html [2018, October 7].
  2. What are the five major types of anxiety disorders? https://www.hhs.gov/answers/mental-health-and-substance-abuse/what-are-the-five-major-types-of-anxiety-disorders/index.html [2018, October 7].
  3. Anxiety Disorders. https://www.nimh.nih.gov/health/topics/anxiety-disorders/index.shtml [2018, October 7].
  4. Anxiety: Causes, symptoms, and treatments. https://www.medicalnewstoday.com/info/anxiety [2018, October 7].