คิดให้ดีก่อนใช้ยาระบาย (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ยาระบายที่ใช้กินอาจรบกวนต่อการดูดซึมของยาหรือสารอาหารอื่นในร่างกาย ในขณะที่ยาระบายที่ใช้ผ่านทางทวารหนักจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ นอกจากนี้ยาระบายที่ใช้กินหรือใช้ผ่านทางทวารหนักอาจเป็นสาเหตุให้เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะการใช้ยาเป็นเวลานาน

เกลือแร่เหล่านี้ได้แก่ แคลเซียม คลอไรด์ โปแตสเซียม แมกนีเซียม และโซเดียม ซึ่งการไม่สมดุลของเกลือแร่เหล่านี้อาจทำให้ระบบการทำงานในร่างกายผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อ่อนเพลีย สับสน และชักกระตุกได้

ความเสี่ยงจากการใช้ยาระบายที่อาจเกิดขึ้นได้แก่

การมีปฏิกริยาต่อยาตัวอื่นที่ใช้อยู่ (Interaction with medications) อย่างยาที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก (Blood thinners) เช่น ยา Warfarin ยาปฏิชีวนะบางอย่าง เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ยารักษาโรคหัวใจ และยารักษาโรคกระดูก

ควรระวังการใช้ยาระบายในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจมีผลต่อทารก ควรเลือกใช้ยาระบายชนิดที่เพิ่มปริมาณอุจจาระอย่างไฟเบอร์ หรือยาระบายที่ทำให้อุจจาระอ่อนตัว จะปลอดภัยกว่าการใช้ยาระบายประเภทกระตุ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้ (Uterine contractions) นอกจากนี้แม้ว่ายาระบายบางตัวอาจจะปลอดภัยขณะให้นมบุตร แต่ก็อาจมีสารบางอย่างที่สามารถซึมผ่านนมแม่ไปสู่ลูกได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทารกท้องเสีย

แม้ว่าการใช้ยาระบายจะไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายาระบายไม่มีความเสี่ยง การใช้ยาระบายอาจเกิดอันตรายได้ถ้าเป็นกรณีของท้องผูกอันเนื่องมาจากอาการรุนแรงอย่าง โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) ลำไส้อุดตัน (Bowel obstruction) นอกจากนี้การใช้ยาระบายเป็นระยะนานติดต่อกันจะมีผลต่อการขับถ่ายตามธรรมชาติและทำให้ท้องผูกมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นก่อนใช้ยาระบาย ควรพยายามลองเปลี่ยนแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) ก่อนด้วยการ

  • กินอาหารที่อุดมด้วยกากใยอาหาร เช่น รำข้าวสาลี (Wheat bran) ผักและผลไม้สด และข้าวโอ๊ต (Oats)
  • ดื่มน้ำและของเหลวให้มากเป็นประจำ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

อย่างไรก็ดี หากต้องใช้ยาระบายเพื่อรักษาอาการท้องผูก พึงระลึกดังนี้

  • ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาระบายเป็นประจำ ให้นึกถึงการใช้ไฟเบอร์เป็นอันดับแรก
  • ดื่มน้ำให้มากเมื่อมีการใช้ยาระบาย พยายามอย่าใช้ยาระบายประเภทกระตุ้น (Stimulant Laxatives) เป็นประจำ เพราะอาจทำให้ร่างดูดซึมวิตามินดีและแคลเซียมได้น้อยลง
  • แต่หากอาการท้องผูกยังคงมีอีก ให้ไปพบแพทย์ เพราะอาการท้องผูกอาจเป็นสัญญาณบอกถึงปัญหาที่ร้ายแรงได้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ โรคเบาหวาน หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)

แหล่งข้อมูล:

  1. Safely Using Laxatives for Constipation. http://www.webmd.com/digestive-disorders/laxatives-for-constipation-using-them-safely [2014, March 4].
  2. Over-the-counter laxatives for constipation: Use with caution. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/constipation/in-depth/laxatives/art-20045906 [2014, March 4].