คิดให้ดีก่อนใช้ยาระบาย (ตอนที่ 2)

ยาระบายแต่ละชนิดจะมีประโยชน์และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป แม้ว่าการใช้ยาเหน็บหรือยาสวนทวารจะไม่สะดวกเท่าการกลืนยา แต่ก็ให้ผลบรรเทาอาการท้องผูกได้เร็วกว่า

ไฟเบอร์ (Fiber) หรือกากใยอาหาร เป็นยาระบายที่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่ท้องผูกไม่มาก การปวดเกร็งท้อง (Abdominal cramping) ท้องอืด (Bloating) หรือแก๊ส อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการมีการเพิ่มขึ้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงของไฟเบอร์ที่กินเข้าไป

โดยปกติจะพบไฟเบอร์ได้จากผลไม้ ผัก และธัญพืช หรือหาซื้อได้จากเคาน์เตอร์ยา เช่น ยี่ห้อ Metamucil, Citrucel, Fiber-Lax, Benefiber, Equilactin และ Fibercon

ไฟเบอร์ทำงานด้วยการเพิ่มปริมาณกากและน้ำ ซึ่งจะช่วยให้อุจจาระเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้เร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการกินอาหารเสริมไฟเบอร์ จึงจำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อลดอาการท้องอืดที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ไฟเบอร์ยังสามารถลดการดูดซึมของยาบางตัวได้ จึงควรกินยาอย่างน้อย 1ชั่วโมงก่อนการกินไฟเบอร์ หรือ 2 ชั่วโมงหลังการกินไฟเบอร์ไปแล้ว

ยาที่ช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant Laxatives) เป็นยาที่ทำให้อุจจาระลื่นไหล มิเนอรอลออยด์ (Mineral Oils) ที่อยู่ในยานี้จะเพิ่มความลื่นให้กับผนังลำไส้และทำให้อุจจาระไม่แห้ง

แม้ว่ายาที่ช่วยหล่อลื่นอุจจาระจะมีประสิทธิภาพสูงแต่ก็ควรใช้รักษาอาการท้องผูกในระยะสั้นเท่านั้น เพราะการใช้ยาชนิดนี้ในระยะยาว มิเนอรอลออยด์จะดูดซึมเอาวิตามินที่ละลายในไขมันออกจากลำไส้ด้วย ทำให้ปริมาณวิตามินดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง ทั้งนี้ไม่ควรกินมิเนอรอลออยด์ พร้อมๆ กับยาหรืออาหารเสริมประเภทอื่น

ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง (Emollient Laxatives / Stool softeners) เช่น ยา Colace จะประกอบด้วยยากลุ่มด๊อกคิวเซท (Docusate) ซึ่งช่วยทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง แม้ว่าการใช้ยาประเภทนี้จะใช้เวลาเห็นผลเป็นสัปดาห์หรือมากกว่า แต่ก็มักจะใช้กันบ่อยในคนที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด หรือหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร หรือคนที่เป็นริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

ยาระบายประเภทเพิ่มปริมาตรน้ำ (Osmotic and Hyperosmolar Laxatives) เช่น ยายี่ห้อ Fleet Phospho-Soda, Milk of Magnesia, Kristalose และ Miralax เป็นยาที่ช่วยดึงน้ำจากเนื้อเยื่อข้างเคียงมายังลำไส้ ทำให้อุจจาระในลำไส้อ่อนตัวลงและไหลผ่านได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องมีการดื่มน้ำให้มากเมื่อใช้ยาประเภทนี้ เพื่อให้เกิดการระบาย ลดแก๊ส และการปวดช่องท้อง (Cramps)

ยาระบายประเภทกระตุ้น (Stimulant Laxatives) ยาระบายชนิดนี้จะทำงานโดยการกระตุ้นด้านในของลำไส้ ช่วยให้อุจจาระผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ เช่น ยา Ex-Lax, Senokot, Correctol, Dulcolax, Feen-a-Mint และลูกพรุน (Prunes) แต่ไม่ควรใช้ยานี้เป็นประจำทุกวัน เพราะจะทำให้ระบบขับถ่ายตามธรรมชาติของร่างกายเสียไป เป็นผลให้ต้องพึงยาระบายไปตลอด นอกจากนี้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการปวดช่องท้องและท้องเสียได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Safely Using Laxatives for Constipation. http://www.webmd.com/digestive-disorders/laxatives-for-constipation-using-them-safely [2014, March 3].