คิดให้ดีก่อนใช้ยาระบาย (ตอนที่ 1)

องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (US. The Food and Drug Administration = FDA) ได้ประกาศเตือนผู้บริโภคให้ระวังถึงการใช้ยาระบายที่วางขายในท้องตลาดทั่วไปว่า อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ขณะที่มีอาการอื่นๆ ทางร่างกายร่วมด้วย เช่นกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาระบายที่มีส่วนผสมของโซเดียมฟอสเฟต (Sodium phosphate)

โดยฉลากของยาระบายที่มีส่วนผสมของโซเดียมฟอสเฟต ได้ระบุว่า ควรใช้ยาวันละครั้ง และไม่ควรใช้เกิน 3 วัน ซึ่ง FDA เตือนว่า ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 55 ปี และเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะการให้ยากินในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และไม่ควรใช้ยาที่ให้ผ่านทางทวารหนักในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี

FDA แจ้งว่า ยาระบายมีหลายตำรับและหลายรูปแบบ ทั้งยาที่ใช้กินและยาที่ให้ผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ภาวะการขาดน้ำ (Dehydration) และระดับที่ผิดปกติของเกลือแร่ (Electrolytes) ในเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ไตถูกทำลายและเสียชีวิต

Mona Khurana, M.D. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ FDA กล่าวว่า จากรายงานปัจจุบันพบว่าสิ่งที่น่าอันตรายที่สุดก็คือ การที่ผู้บริโภคใช้ยาเกินขนาดและเกินจำนวนครั้งที่กำหนดต่อวัน เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าการกินยาเพียงโดส (Dose) เดียวไม่ค่อยได้ผล

FDA ยังเตือนอีกว่า ผู้ใช้ยาระบายควรสังเกตุปฏิกริยาหลังการใช้ยาด้วย ตัวอย่างเช่น การให้ยาผ่านทางทวารหนัก (Rectal dose) เพราะยาอาจคงอยู่แต่ไม่ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะการขาดน้ำหรือการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของเกลือแร่ในกระแสเลือด

โดยอาการขาดน้ำที่พบได้แก่ อาการปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย และปวดศีรษะเล็กน้อย โดยเฉพาะตอนที่เปลี่ยนท่า ดังนั้นหากยาที่ให้ผ่านทางทวารหนักยังคงอยู่ในร่างกายมากกว่า 30 นาที ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

หรือกรณีที่ไตถูกทำลายอาจแสดงออกโดยมีอาการง่วงซึม (Drowsiness) เฉื่อยเนือย (Sluggishness) ปัสสาวะน้อย บวมที่ข้อเท้า เท้า และขา หากพบอาการนี้หลังการใช้ยาระบายที่มีส่วนผสมของโซเดียมฟอสเฟต ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน

ยาระบาย (Laxatives) ประกอบด้วยสารเคมีที่ช่วยเพิ่มการบีบตัวของอุจจาระให้บ่อยขึ้น เพื่อลดอาการท้องผูก แต่เมื่อมีการใช้ยาผิดหรือใช้เกินขนาด ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง การกินอาหารสด ผัก ผลไม้ ธัญพืช การออกกำลังกายเป็นปกติ และการดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน สามารถช่วยป้องกันอาการท้องผูกในคนส่วนใหญ่ได้

และเพราะว่าแพทย์ที่รักษาอาการท้องผูกมักจบลงด้วยการจ่ายยาระบายประมาณ ร้อยละ 85 ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะทราบถึงการทำงานของยาระบายและจะใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

ยาระบาย มีหลายชนิดทั้งในรูปของยาเม็ด ยาแค๊ปซูล ยาน้ำ ยาเหน็บ (Suppositories) และยาสวนทวาร (Enemas) เวเฟอร์ (Wafers) ยาผงละลายน้ำ (Powders)

แหล่งข้อมูล:

  1. Use Certain Laxatives with Caution. http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm379440.htm [2014, March 2].
  2. Safely Using Laxatives for Constipation. http://www.webmd.com/digestive-disorders/laxatives-for-constipation-using-them-safely [2014, March 2].