คิดให้ดีก่อนจะสัก (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

คิดให้ดีก่อนจะสัก-2

      

      การสักสามารถทำลายผิวหนังด้วยเช่นกัน และทำให้เกิดความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น

  • ปฏิกริยาภูมิแพ้ (Allergic reaction) ต่อสีที่ใช้ ซึ่งอาจจะคงอยู่เป็นปี โดยเฉพาะสีแดงที่มีส่วนผสมของปรอท (Mercury) และสีย้อมเอโซ (Azo-chemicals) ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพ้ได้มาก
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น การติดเชื้อสตาฟ (Staph infection) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Staphylococcus ที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง ในปาก และในจมูกของคน ตลอดจนการติดเชื้อวัณโรค (Tuberculosis)
  • การเกิดก้อนเนื้อที่เรียกว่า แกรนูโลมา (Granulomas) บริเวณที่สัก (เป็นปฏิกิริยาของเซลล์ที่มีต่อสารที่แปลกปลอมเข้าไป)
  • การเกิดแผลเป็น (Keloid)
  • โรคติดเชื้อทางกระแสโลหิตที่เกิดจากการใช้เข็มที่ติดเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) โรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) เชื้อ HIV และบาดทะยัก (Tetanus)
  • ภาวะที่มีเลือดออกในเนื้อเยื่อ (Hematoma)
  • สารสีบางอย่างอาจเคลื่อนจากบริเวณที่สักไปสะสมยังต่อมน้ำเหลือง ก่อให้เกิดการอักเสบที่ระบบต่อมน้ำเหลือง
  • ก่อให้เกิดปัญหาในการทำเอ็มอาร์ไอในอนาคต เช่น ทำให้บริเวณรอยสักมีอาการบวม ไหม้ หรือมีผลกระทบต่อการวิเคราะห์ภาพที่ได้จากการทำเอ็มอาร์ไอ
  • อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะกรณีหมึกสีดำที่มีส่วนผสมของ Benzo(a)pyrene ที่สูง โดยสารตัวนี้ทาง International Agency for Research on Cancer (IARC) ถือเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

      นอกจากนี้ กรณีที่มีการสักลิ้นยังก่อให้เกิดความเสียหายกับฟันและเป็นสาเหตุให้พูดลำบาก และหากลิ้นบวมแล้วไปอุดกั้นทางหายใจก็จะทำให้หายใจลำบากด้วย

      การดูแลหลังการสัก

  • หลังการสักให้ปิดผ้ากันแผลเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • ทำความสะอาดรอยสักเบาๆ ด้วยน้ำและสบู่ และเช็ดให้แห้ง ห้ามถู
  • ทามอยเจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer) ให้ความชุ่มชื้น
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดในสัปดาห์แรก
  • อาจใช้เวลา 2 สัปดาห์เพื่อให้แผลหาย และไม่ควรสัมผัสบริเวณที่สักเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

      ทั้งนี้ Dr. Linda Katz, M.D., M.P.H ผู้อำนวยการฝ่ายคอสเมติคและสีของ FDA ได้กล่าวเตือนว่า ก่อนทำการสัก ควรถามตัวเองถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ด้วยคำถามดังต่อไปนี้ก่อน

      1. ได้พิจารณาถึงสุขอนามัยและความปลอดภัยของอุปกรณ์เครื่องมือ และแน่ใจในตัวหมึกที่ใช้สักหรือไม่ ว่าไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ

      2. สีที่ใช้คือสีอะไร เพราะมีรายงานวิจัยว่า สีที่ใช้ในการสักบางชนิดเป็นหมึกที่ใช้กับเครื่องพิมพ์หรือเป็นสีที่ใช้พ่นรถยนต์

      3. มีปฏิกริยาอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นหลังการสัก เช่น เป็นไข้ บวม หากเกิดการติดเชื้อจะทำอย่างไร และกรณีที่เป็นผื่นแพ้เพราะสีที่ใช้มีส่วนผสมของสารพาราฟินีลินไดอะมีน (p-phenylenediamene = PPD) ก็อาจทำให้เกิดการแพ้สีย้อมผมไปด้วย

      4. จะเกิดแผลเป็น แกรนูโลมา หรือก้อนบวม ที่บริเวณสัก ด้วยหรือไม่

      5. ถ้าสักแล้วต้องทำเอ็มอาร์ไอจะมีผลอย่างไรบ้าง

      อนึ่ง การลบรอยสักเป็นเรื่องที่ยาก เพราะอาจต้องใช้เวลาทำหลายครั้ง ทำให้เป็นแผลเป็น และยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าตอนสัก

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Getting Tattooed or Pierced. https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care-tattoos-piercings [2018, September 22].
  2. Think Before You Ink: Are Tattoos Safe? https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm048919.htm [2018, September 22].
  3. Think Before You Ink: Tattoo Health Risks. https://radiopaedia.org/articles/nipah-virus-encephalitis [2018, September 22].
  4. Tattoo medical issues. https://en.wikipedia.org/wiki/Tattoo_medical_issues [2018, September 22].
  5. .