คิดให้ดีก่อนจะสัก (ตอนที่ 1)

คิดให้ดีก่อนจะสัก-1

      

      นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รอยสักที่ผิวหนังอาจทำให้ผู้สักมีความพึงใจหลงใหล ในความสวยงามของสีสันและลวดลาย จนลืมไปว่ารอยสักนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งมีอันตราย เช่น อันตรายการแพ้สีที่ใช้ในการสัก เครื่องมือที่ใช้ไม่สะอาดเพียงพอ ตลอดจนการดูแลตนเองหลังจากการสัก เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ทั้งทางผิวหนังและระบบต่างๆ ของร่างกาย

      โดยภาวะแทรกซ้อนของการสักที่พบบ่อย คือ อาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส จากเข็มที่ไม่สะอาด/กระบวนการดูแลแผลหลังการสัก โดยเชื้อโรคที่พบบ่อย มีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบี/ซี เชื้อ HIV เป็นต้น

      ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเรื่องการติดเชื้อจากการสักพบมากขึ้น เนื่องจากมีความนิยมสักในตำแหน่งที่ผิวหนังบอบบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และดูแลแผลหลังการสักยุ่งยากมากขึ้น เช่น บริเวณริมฝีปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบผลข้างเคียงด้านอื่น อาทิ การเกิดแผลเป็นการเกิดก้อนแกรนูโลมาของผิวหนัง การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

      พญ.มิ่งขวัญ กล่าวเตือนว่า ก่อนตัดสินใจสักผิวหนังควรคำนึงถึงผลดีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการสัก รวมทั้งหาข้อมูลสถานประกอบการที่เชื่อถือได้ก่อนรับบริการ เพราะเมื่อสักผิวหนังไปแล้ว เกิดไม่ชอบใจรูปที่สักไว้ภายหลัง และต้องการลบรอยสักออกจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายอีกมาก

      โดยค่าใช้จ่ายสำหรับการลบรอยสักมากกว่าการสักหลายเท่า เช่น เราอาจจะเสียค่าสักเพียง 1,000 บาท แต่การลบรอยสักอาจเสียค่าใช้จ่ายแพงถึง 5,000-20,000 บาท นอกจากนี้การรักษาส่วนใหญ่ต้องทำหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้เสียเวลาเสียเงิน เช่น การลบรอยสักโดยการใช้เลเซอร์ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

      การสัก (Tattoo) เป็นการทำลวดลายบนผิวหนังโดยการฉีดสีเข้าสู่ชั้นผิวหนัง ด้วยเครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนเครื่องเย็บ (Sewing machine) ที่มีเข็มแทงลงในผิวหนังซ้ำๆ โดยทุกเข็มที่แทงลงไปจะมีการบรรจุหยดหมึกลงไปด้วย การสักที่ไม่ได้มีการใช้ยาชา (Anesthetics) จะรู้สึกเจ็บปวดและมีเลือดออก

      ดังนั้น ก่อนทำการสักควรพิจารณาให้รอบคอบก่อน ให้มั่นใจว่าตัวเองแข็งแรง ไม่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) โรคภูมิแพ้ (Allergies) โรคเบาหวาน (Diabetes) ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ (Weakened immune system) หรือมีปัญหาเรื่องเลือดไหลไม่หยุด

      และควรพิจารณาถึงสถานที่และผู้ที่จะทำการสักว่ามีความสะอาดถูกสุขอนามัยอย่างไร เช่น

  • มีเครื่องมือที่ใช้สำหรับนึ่งฆ่าเชื้อ (Autoclave) และทำให้ของที่ผ่านการนึ่งแล้วอยู่ในสภาพปราศจากเชื้อจนกว่าจะนำมาใช้
  • มีการล้างมือก่อน
  • มีการสวมถุงมือใหม่
  • ใช้เข็มเพียงครั้งเดียว (Single-use needles)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนคนอยากเท่ด้วยรอย'สัก' หลายโรคพร้อมกระหน่ำซ้ำเติมคุณ.http://www.naewna.com/likesara/361904 [2018, September 21].
  2. Tattoos: Understand risks and precautions. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/tattoos-and-piercings/art-20045067 [2018, September 21].
  3. Body Piercing. https://kidshealth.org/en/teens/body-piercing-safe.html [2018, September 21].