คิดหมกมุ่น (ตอนที่ 2)

คิดหมกมุ่น-2

นายแพทย์ธิติพันธ์ กล่าวต่อว่า ในการสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคบีดีดีหรือไม่ ให้เริ่มจากการมีความคิดว่า มีบางส่วนบนร่างกายตัวเองผิดปกติหรือมีส่วนที่ต้องการจะแก้ไขให้มันดีขึ้น ร่วมกับการมีพฤติกรรมหรือความกังวล ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

1. กังวลว่าคนอื่นจะเห็นความผิดปกติของตัวเอง

2. พยายามปกปิดส่วนนั้นของร่างกายไว้

3. ส่องกระจกตรวจสอบความผิดปกติบ่อยครั้ง

4. หลีกเลี่ยงการส่องกระจกหรือเงาสะท้อน

5. พยายามอย่างมากที่จะแก้ไขความผิดปกติ เช่น การเข้าฟิตเนสเพิ่มกล้ามเนื้อ เป็นต้น

หากมีตามที่กล่าวมา แสดงว่าเริ่มเป็น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ ซึ่งที่โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เริ่มพบผู้ป่วยประเภทนี้เข้ารักษาเฉลี่ยเดือนละ 10-20 ราย ส่วนใหญ่จะมีอาการในกลุ่มเครียดหรือกังวล

นายแพทย์ธิติพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคบีดีดี ที่ได้ผลดีที่สุดคือการรับประทานยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมและยับยั้งความคิดได้ โดยใช้เวลารักษา 6-9 เดือน ควบคู่กับการทำจิตบำบัด ปรับความคิดผู้ป่วยและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของส่วนต่างๆของร่างกาย แนะนำวิธีการจัดการความกังวลที่เหมาะสม

ส่วนการรักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์ เช่น ผ่าตัดแก้ไข มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากหลังแก้ไขผู้ป่วยก็จะยังไม่พอใจ และอาจยิ่งกังวลเพิ่มไปอีก ทำให้ต้องเข้าไปแก้ไขซ้ำๆ ต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด และอาจเกิดปัญหาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

โรคบีดีดี ( Body Dysmorphic Disorder = BDD ) หรือ โรคคิดหมกมุ่น เป็นความผิดปกติทางจิตที่ผู้ป่วยไม่สามารถหยุดคิดถึงหรือไม่สามารถยอมรับรูปลักษณ์ของตนเองที่เป็นอยู่ ซึ่งในสายตาผู้อื่นข้อบกพร่องนี้เป็นเพียงส่วนน้อยหรืออาจสังเกตไม่เห็นก็ได้

ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกว่า ข้อบกพร่องนี้ทำให้ตัวเองหดหู่และกระทบการทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน จนต้องพยายามแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ซึ่งหลังการแก้ไขจะพอใจไปช่วงหนึ่งและก็จะเกิดความรู้สึกแบบเดิมและหาทางแก้ไขอีก

และผู้ที่เป็นโรคบีดีดีมักมีโรควิตกกังวล (Anxiety disorders) อื่นๆ เช่น โรคกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) โรคหดหู่ซึมเศร้า (Depression) โรคการกินผิดปกติ (Eating disorders) โรคย้ำคิดย้ำทำ(Obsessive-compulsive disorder = OCD) ร่วมด้วย

โรคบีดีดีเป็นโรคเรื้อรัง มักเป็นตอนเริ่มวัยรุ่น เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในสหรัฐอเมริกา โรคบีดีดีจะเกิดในผู้ชายร้อยละ 2.5 และในผู้หญิงร้อยละ 2.2 และมักเริ่มเป็นเมื่ออายุ 12-13 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. อึ้ง! พบคนไทยรุ่นใหม่ป่วยโรค "หมกมุ่นรูปลักษณ์ตัวเอง" กังวลไม่ปัง-เป๊ะ-เว่อร์. http://www.tnews.co.th/contents/383010 [2017, December 7].
  2. Body dysmorphic disorder. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/body-dysmorphic-disorder/symptoms-causes/syc-20353938 [2017, December 7].
  3. Body Dysmorphic Disorder (BDD). https://adaa.org/understanding-anxiety/related-illnesses/other-related-conditions/body-dysmorphic-disorder-bdd [2017, December 7].