ลมชัก:คำถามกับลมชัก

คำถามกับลมชัก

1. โรคลมชักรักษาหายหรือไม่

  • โรคลมชักเป็นโรคที่มีผลการรักษาดีมากโรคหนึ่ง พบว่าผู้มีอาการชัก 100 คนจะควบคุมอาการชักด้วยยากันชักเพียงชนิดเดียวได้สูงถึง 60 คน

2. โรคลมชักติดต่อกันได้หรือไม่

  • โรคลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อกันทางน้ำลาย การสัมผัส การหายใจ ไอ จาม รดกัน เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่มีพ่อ แม่ห้ามลูกตนเองเล่นกับเด็กที่เป็นลมชัก

3. เด็กที่มีอาการชักจะโง่หรือไม่

  • เด็กหรือผู้มีอาการชักส่วนใหญ่แล้วมีระดับสติปัญญาปกติ ไม่ได้มีปัญหาการเรียน การทำงานใดๆ มีเพียงส่วนหนึ่งของผู้มีอาการชักที่จะมีปัญหาด้านสติ ปัญญา เนื่องจากมีสาเหตุจากความพิการทางสมองแต่กำเนิด หรือมีสาเหตุการชักจากโรคทางสมองที่รุนแรง เช่น อุบัติเหตุที่สมองรุนแรง สมองอักเสบรุนแรง สมองขาดออกซิเจนรุนแรง เป็นต้น

4. เรียนหนังสือได้หรือไม่

  • ผู้มีอาการชักไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่นหรือผู้สูงอายุ ก็สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนได้ เรียนร่วมกับคนทั่วไปได้

5. เล่นกีฬาได้หรือไม่

  • สามารถเล่นกีฬาที่ไม่ผาดโผน ไม่มีการปะทะกันได้แน่นอน และมีความปลอดภัย เช่น แบดมินตัน โบว์ลิ่ง เดินเร็ว วิ่งช้าๆ เป็นต้น
  • แต่กีฬาที่ไม่ควรเล่น เช่น จักรยานเสือภูเขา ชกมวย ว่ายน้ำระยะทางไกล ปีนหน้าผาสูง เป็นต้น

6. ต้องทานยากันชักนานกี่ปี

  • การรักษาโรคลมชักต้องทานยากันชักนานต่อเนื่องประมาณ 3-5 ปี คือผู้มีอาการชักต้องทานยากันชักต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการชักให้ได้ โดยต้องไม่มีอาการชักเลยนานติดต่อกันประมาณ 2 ปี แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยากันชักลงอย่างช้าๆ จนหยุด

7. ต้องผ่าตัดรักษาโรคลมชักทุกคนหรือไม่

  • การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนั้น ทำเฉพาะผู้ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือความจำเป็นเท่านั้น คือ ผู้ที่มีโรคต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น เนื้องอกสมอง เลือดคั่งในสมอง ฝีในสมอง หรือสมองกลีบขมับฝ่อ เป็นต้น ไม่ได้ผ่าตัดรักษาทุกคน

8. แต่งงานได้หรือไม่

  • สามารถแต่งงานได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องมีการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิดที่ดี เนื่องมาจากยากันชักที่ทานอาจส่งผลก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้ จึงต้องมีการคุมกำเนิดที่ดี มีการปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิดด้วยวิธีที่ปลอดภัย ยากันชักต้องไม่ตีกับยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิด

9. มีลูกได้หรือไม่

  • ผู้หญิงที่มีอาการชัก ทานยากันชัก ก็สามารถมีลูกได้ เพียงแต่ต้องควบคุมอาการชักให้ได้ดี หยุดยากันชัก่อนยิ่งดี แต่ถ้าไม่สามารถหยุดยากันชักได้ ก็ต้องพิจารณาเลือกใช้ยากันชักที่มีความปลอดภัย หรือมีโอกาสเกิดความพิการของทารกในครรภ์แต่กำเนิดต่ำสุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์

10. ขับขี่รถได้หรือไม่

  • การขับขี่รถอย่างปลอดภัยสามารถทำได้ แต่ต้องควบคุมอาการชักให้ได้ดีอย่างน้อย 1 ปีสำหรับรถส่วนตัว และ 10 ปีสำหรับรถสาธารณะ รถรับจ้าง รถบรรทุก และต้องทานยากันชักสม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยา เพราะถ้าชักขณะขับขี่รถ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรสูงมาก และส่งผลเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สินอย่างมาก

โรคลมชักรักษาได้ ไม่อันตราย หรือน่ากลัวอย่างที่คิด