คาร์บอกซี่เพนิซิลลิน (Carboxypenicillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลิน (Carboxypenicillin) เป็นยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างทางเคมีหลักๆซึ่งเรียกกันว่า Beta-lactam สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมลบซึ่งรวมเชื้อ Proteus และPseudomonas aeruginosa

ยาในกลุ่มคาร์บอกซี่เพนิซิลลินยังถูกแบ่งเป็นรายการย่อยดังนี้

Carbenicillin:เป็นยาที่ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทยาอังกฤษ รูปแบบยาแผนปัจจุบันมีทั้งยารับประทานและยาฉีด มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี การได้รับยานี้ในขนาดสูงๆอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ร่างกายสูญเสียเกลือโพแทสเซียมได้เป็นปริมาณมาก ทางคลินิกใช้ยา Cabenicillin มารักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะเช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบและต่อมลูกหมากอักเสบ ยาชื่อการค้าของยานี้ที่เป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศคือ “ยา Geocillin”

Ticarcillin:ในสูตรตำรับของยานี้มักจะมีส่วนผสมของยา Clavulanate (ยาที่ไม่ออกฤทธิ์ด้วยตัว เอง แต่เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น จะช่วยเพิ่มฤทธิ์การรักษาของยาให้ได้สูงขึ้นมาก) ด้วย Ticar cillin ไม่สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ จึงมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาฉีดที่สามารถละลายน้ำได้ดี สามารถใช้น้ำที่ปราศจากเชื้อโรคละลายตัวยาเพื่อเตรียมฉีดให้กับผู้ป่วย และควรใช้ยาทันทีหลังละลายยากับน้ำทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเสื่อมสลายของยา Ticarcillin นั่นเอง สรรพคุณทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาการติดเชื้ออวัยวะของระบบสืบพันธุ์ มีชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักกันในต่าง ประเทศคือ “Timentin”

ทั้งนี้ยาทั้งสองตัวดังกล่าวจะมีการออกฤทธิ์คล้ายๆกันคือ คอยยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ในตัวแบคทีเรียจึงทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต

ผลข้างเคียงของยากลุ่มคาร์บอกซี่เพนิซิลลินอาจทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง ต่อระบบทางเดินอาหาร ต่อการทำงานของหัวใจ รวมถึงระบบเลือดในร่างกายมนุษย์

อนึ่ง ยังมีข้อมูลสำคัญบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับยากลุ่มนี้เช่น

  • ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้นและไม่สามารถรักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัส
  • การใช้ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินเป็นเวลานานๆอาจเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อประเภทอื่นๆตามมาเช่น แบคทีเรียชนิดอื่น แพทย์จึงไม่แนะนำการใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานานเกินไป
  • อาจพบอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงกับผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้
  • ยากลุ่มคาร์บอกซี่เพนิซิลลินสามารถทำให้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป หากใช้ยาร่วมกันแพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใส่ถุงยางอนามัยชาย
  • ขณะที่มีการใช้ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลิน อาจต้องตรวจสอบการทำงานของระบบเลือดและไตร่วมด้วยทั้งนี้เพื่อทดสอบว่าเกิดความผิดปกติต่อระบบดังกล่าวของร่างกายหรือไม่
  • ผู้ป่วยควรต้องได้รับยานี้จนครบขนาดมาตรฐานของการให้ยาถึงแม้จะมีอาการดีขึ้นทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อเกิดการดื้อยา

ปัจจุบันมีรายการของยาปฏิชีวนะอย่างมากมายรวมถึงยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลิน คุณสมบัติหรือสรรพคุณของการรักษา มีทั้งใกล้เคียงและแตกต่างกัน การแพ้ยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดภาวะช็อกจน ถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรวมถึงยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินมาใช้ด้วยตนเอง ควรได้รับการตรวจร่างกายและใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

คาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คาร์บอกซี่เพนิซิลลิน

ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะเช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นต้น

คาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาในกลุ่มคาร์บอกซี่เพนิซิลลินคือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถขยายพันธุ์และตายลงในที่สุด

คาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กลุ่มยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาชนิดรับประทาน และ
  • ยาฉีด

คาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินกับผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าสมควรใช้ยาตัวใด เป็นแบบรับประทานหรือฉีด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการตอบสนองของการรักษามาประกอบกัน เพื่อจะได้สั่งจ่ายยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินตรงเวลา

คาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด อาการทางผิวหนังอาจพบอาการผื่นคัน ลมพิษ หรือภาวะ Stevens-Johnson syndrome อาจพบระบบการทำงานของเลือดมีความผิดปกติเช่น Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ) Leukopenia (เม็ดเลือดขาวต่ำ) Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ) Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง) หรือไม่อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย อาการทางตับที่พบเห็นได้เช่น ดีซ่าน เอนไซม์อัลคาไลด์ ฟอสฟาเตสเพิ่มขึ้น (Serum alkaline phosphatase/เอนไซม์การทำงานตับ) หรือไม่ก็เกิดภาวะตับอักเสบ นอกจากนี้ยังอาจพบเชื้อยีส/Yeast/เชื้อราชนิดหนึ่งขึ้นที่ช่องคลอดในขณะที่มีการใช้ยากลุ่มนี้

มีข้อควรระวังการใช้คาร์บอกซี่เพนิซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ให้หยุดใช้ยานี้ทันทีกรณีตรวจพบร่างกายผู้ป่วยมีการติดเชื้อราหรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆที่ไม่ตอบสนองต่อยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลิน พร้อมรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • การใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องกระทำอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นก็ยังต้องใช้ยาจนครบมาตรฐานของการรักษา/ตามแพทย์สั่ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยา Carbenicillin ร่วมกับยา Methotrexate อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก Methotrexate ได้มากขึ้นโดยจะแสดงอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากเป็นแผล เม็ดเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยา Carbenicillin ร่วมกับยา Tetracycline จะทำให้ประสิทธิภาพของยา Carbenicillin ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Carbenicillin หรือยา Ticarcillin ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น Ethinyl Estradiol อาจเป็นเหตุให้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงจนเกิดภาวะตั้งครรภ์ตามมาได้ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย

ควรเก็บรักษาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินอย่างไร?

ควรเก็บยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คาร์บอกซี่เพนิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์บอกซี่เพนิซิลลินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Geocillin (จีโอซิลลิน) pfizer
Timentin (ไทเมนติน) GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Carboxypenicillin [2016,Jan2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbenicillin [2016,Jan2]
  3. http://www.drugs.com/dosage/carbenicillin.html [2016,Jan2]
  4. http://www.drugs.com/ppa/ticarcillin-clavulanate-potassium.html [2016,Jan2]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/carbenicillin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan2]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/ticarcillin-index.html?filter=2&generic_only= [2016,Jan2]
  7. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/050435s009lbl.pdf [2016,Jan2]
  8. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/050658s022lbl.pdf [2016,Jan2]