คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ (Cardioselective beta blockers)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ (Cardioselective beta blockers) คือ กลุ่มยาที่นำมารักษาอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ(เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นเร็ว, โรคความดันโลหิตสูง), ต้อหิน, ไมเกรนโดยมีรูปแบบยาแผนปัจุบันได้หลากหลายขึ้นกับยาแต่ละชนิดย่อย เช่น ยารับประทาน, ยาฉีด, ยาหยอดตา

อนึ่ง: ชื่ออื่นของยานี้ เช่น  ซีเล็กทีฟ เบต้า1รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Selective beta1 receptor blocker)

ตัวยาในกลุ่มนี้มีอยู่หลายรายการ และจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าอย่างมากมายหลายประเทศทั่วโลก, ตัวอย่างยากลุ่มนี้ที่พบเห็นการใช้กันในทางคลินิก เช่น

  • Acebutolol: รักษาโรคความดันโลหิตสูง, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina),  ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน,  หัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ, และบางกรณีนำมาใช้บำบัดอาการผู้ติดสุราเรื้อรังอีกด้วย, ผลิตภัณฑ์จะเป็นยารับประทาน และยาฉีด
  • Betaxolol: ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, รวมถึงบำบัดอาการของโรคต้อหิน โดยใช้ป้องกันความเสียหายของเส้นประสาทในบริเวณตา, ผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน และ ยาหยอดตา
  • Bisoprolol: รักษาโรคความดันโลหิตสูง, อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, บำบัด ภาวะหัวใจล้มเหลว, ผลิตภัณฑ์มีเฉพาะยาชนิดรับประทาน
  • Celiprolol: ใช้ลดความดันโลหิตสูง เป็นยาชนิดรับประทาน
  • Esmolol: ใช้บำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยลดแรงบีบตัวของหัวใจ, และใช้เป็นยาป้องกันไม่ให้หัวใจผู้ป่วยเต้นเร็วในระหว่างการผ่าตัด, ผลิตภัณฑ์จะเป็นยาฉีดเท่านั้น
  • Metoprolol: ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะหัวใจล้มเหลว, หัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ, บางกรณีนำไปช่วยบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน, ผลิตภัณฑ์มีทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด
  • Nebivolol: ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, ประเทศในแถบยุโรปจะใช้รักษาภาวะหัวใจ ห้องล่างด้านซ้ายล้มเหลว (Left ventricular failure), ผลิตภัณฑ์มีเฉพาะยารับประทาน

ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาดังกล่าวแต่ละรายการสำหรับผู้ป่วยแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยแพทย์จะใช้องค์ประกอบต่างๆมาพิจารณา เช่น อายุ, เพศ, โรคประจำตัว, สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์, สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร, ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยมีใช้อยู่ก่อน, ฯลฯ, นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

ตัวยาหลายรายการข้างต้นมีใช้ในประเทศไทย และถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยากลุ่มนี้มักต้องรับประทานกันเป็นเวลานานต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น, ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

 

ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง (ยาลดความดัน)
  • รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • อื่นๆ: เช่น
    • บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน
    • บำบัดอาการต้อหิน

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาในกลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อต้านการกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติประเภทระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งมีกระจายอยู่ในระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต, นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ครอบคลุมไปถึงสมองส่วนก้านสมอง โดยยับยั้งสารสื่อประสาทต่างๆ, และลดฤทธิ์การทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก, จากกลไกที่ซับซ้อนดังกล่าว สามารถส่งผลต่อการรักษาอาการป่วยดังสรรพคุณ

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน ที่มีหลายขนาดความแรง
  • ยาฉีด
  • ยาหยอดตา

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีหลากหลายรายการ, ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคมีความแตกต่างกันออกไป, อีกทั้งมีข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงมากมาย, การใช้ยากลุ่มนี้ที่ปลอดภัย จึงขึ้นกับแพทย์ผู้ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยา/ใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม (แนะนำอ่านเพิ่มเติมแต่ละตัวยาในเว็บ haamor.com เช่น ยา Acebutolol, Bisoprolol เป็นต้น)

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น    

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อก เกอร์ ตรงเวลา

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ, การบีบตัวหรือการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจเปลี่ยนแปลงไป, ความดันโลหิตต่ำ, เจ็บหน้าอก, มีอาการบวมของมือ-เท้า,  มีอาการโรคเรเนาด์ (Raynaud’s syndrome), เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • ผลต่อการทำงานของระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดหัว มีภาวะประสาทหลอน ฝันแปลกๆ  ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น มีอาการไอ, หลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก, เยื่อจมูกอักเสบ, หลอดลมอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผื่นคัน เหงื่อมาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ท้องอืด  คลื่นไส้อาเจียน อาหารไม่ย่อย

มีข้อควรระวังการใช้ คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • *หลังการใช้ยานี้ ถ้าอาการป่วยไม่ดีขึ้น ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา          
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อกด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหืด, ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า, ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ, ผู้ป่วยโรคเรเนาด์
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานยาต่างๆ อาหาร การพัก ผ่อน การออกกำลังกาย, และต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ ด้วย)  ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น  

  • ห้ามรับประทานยากลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ มีอาการปวดหัว วิงเวียน และเป็นลม
  • การใช้ยา Betaxolol ร่วมกับยาต้านไเอชไอวี /ยาต้านรีโทรไวรัส เช่นยา Atazanavir สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการวิงเวียน เป็นลม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Metoprolol ร่วมกับยา Reserpine และยาในกลุ่ม MAOIs จะทำให้ฤทธิ์ของยา Metoprolol เพิ่มมากขึ้น  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Nebivolol  ร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Nebivolol ลดลง แต่กลับเพิ่มอาการข้างเคียงจากยา Theophylline เพื่อป้องกันสภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษา คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อย่างไร?

ควรเก็บยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์: เช่น

  • เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์   มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ACB (เอซีบี) Pacific Pharm
Apo-Acebutolol (อาโป-อะซีบูโทลอล) Apotex
Acebutolol Hydrochloride Capsule (อะซีบูโทลอล ไฮโดรคลอไรด์ แคปซูล) Mylan Pharmaceuticals Inc
Sectral (เซกทรัล) Sanofi-Aventis
Betoptic (เบท็อปติก) Alcon
Betoptic S (เบท็อปติก เอส) Alcon
Kerlone (เคอร์โลน) Sanofi Aventis
Bisloc (บิสล็อก) Unison
Concor (คอนคอร์) Merck
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) Sriprasit Pharma
Lodoz (โลดอซ) Merk
Novacor (โนวาคอร์) Tri Medical
Atenol (อะทีนอล) T. O. Chemicals
Atenolol Community Pharm (อะทีนอล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Atenolol Kopran (อะทิโนลอล โคพราน) Kopran
Betaday-50 (เบต้าเดย์-50) Vesco Pharma
Enolol (อีโนลอล) Charoon Bhesaj
Esnolol (เอสโนลอล) Emcure Pharma
Eutensin (ยูเทนซิน) Greater Pharma
Oraday (ออราเดย์) Biolab
Prenolol (พรีโนลอล) Berlin Pharm
Tenocard (ทีโนคาร์ด) IPCA
Tenolol (ทีโนลอล) Siam Bheasach
Tenormin (ทีนอร์มิน) AstraZeneca
Tenrol (เทนรอล) Unique
Tetalin (ทีตาลิน) Pharmasant Lab
Tolol (โทลอล) Suphong Bhaesaj
Velorin (วีโลริน) Remedica
Celipres (เซลิเพรส) Ranbaxy
Cardeloc (คาร์ดิล็อก) T.O. Chemicals
Cardoxone R (คาร์ดอกโซน อาร์) Remedica
Meloc (เมล็อก) T. Man Pharma
Melol (เมลอล) Central Poly Trading
Metoblock (เมโทบล็อค) Silom Medical
Metoprolol 100 Stada (เมโทโพรลอล 100 สตาดา) Stada
Metoprolol 200 Stada Retard (เมโทโพรลอล 200 สตาดา รีทาร์ด) Stada
Metprolol (เมทโพรลอล) Pharmaland
Sefloc (เซฟล็อก) Unison

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker   [2022,Oct29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Acebutolol   [2022,Oct29]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Atenolol  [2022,Oct29]
  4. https://www.mims.com/India/drug/info/celiprolol/   [2022,Oct29]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Esmolol  [2022,Oct29]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Metoprolol  [2022,Oct29]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Nebivolol  [2022,Oct29]
  8. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/in-depth/beta-blockers/art-20044522  [2022,Oct29]
  9. https://www.drugs.com/mtm/nebivolol.html  [2022,Oct29]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/metoprolol-index.html?filter=2#R  [2022,Oct29]