คาบาซิแทคเซล (Cabazitaxel)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาบาซิแทคเซล(Cabazitaxel)เป็นอนุพันธ์ยากลุ่มแท็กเซน(Taxane) ทางคลินิก นำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัดเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รูปแบบเภสัชภัณฑ์ ของยาคาบาซิแทคเซลเป็นแบบยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะต้องมารับการให้ ยานี้/ยาชนิดนี้ทุกๆ 3 สัปดาห์หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ เพื่อประสิทธิผลของการรักษามะเร็ง แพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษามะเร็งตัวอื่นๆให้กับผู้ป่วยร่วมด้วย อาทิ ยาโดซีแทคเซล(Docetaxel) เป็นต้น

ระหว่างที่ได้รับยาคาบาซิแทคเซล ยังมีข้อควรระวังและคำเตือนต่างๆที่ต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอ เช่น

  • ยาคาบาซิแทคเซลสามารถกดการสร้างเม็ดเลือดขาวของไขกระดูก และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาวเลือด(ตรวจเลือดซีบีซี)อย่างสม่ำเสมอ แพทย์อาจเปลี่ยนความถี่การให้ยานี้หรือหยุดการให้ยานี้จนกว่าร่างกายผู้ป่วยจะมีเม็ดเลือดขาวเพียงพอ กรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่แพทย์อาจให้ยาจีซีเอสเอฟ(G-CSF) เพื่อช่วยฟื้นสภาพและเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน/ท้องเสียอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต แพทย์จึงมักจะสั่งจ่ายยาป้องกันและบรรเทาอาการดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทานที่บ้าน ผู้ป่วยควรต้องรับประทานยาต่างๆตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หากมีมี ภาวะบวมน้ำ เกิดผื่นคัน อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องรีบให้แพทย์ตรวจประเมินอาการของร่างกายเพิ่มเติมว่า มีภาวะแพ้ยา หรืออาการแทรกซ้อนอื่นใดร่วมด้วยหรือไม่
  • มีความเสี่ยงกับภาวะไตวายเนื่องจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำอย่างมาก ผู้ป่วยจึงต้องมารับการตรวจร่างกายเป็นระยะๆตามแพทย์นัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยาคาบาซิแทคเซลเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่ผู้เดียว ซึ่งเราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาคาบาซิแทคเซล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้

คาบาซิแทคเซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาบาซิแทคเซล

ยาคาบาซิแทคเซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมน(Castrate resistant metastatic prostate cancer)

คาบาซิแทคเซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาบาซิแทคเซลมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไมโครทิวบูล(Antimicrotubule agents)ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การยับยั้งไมโครทิวบูลส่งผลให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัว ไม่สามารถขยายขนาด ลดการลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ และตายลงในที่สุด

คาบาซิแทคเซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาบาซิแทคเซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้ เช่น ใน 1 กล่องจะประกอบด้วย

  • ยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยยา Cabazitaxel 60 มิลลิกรัม/ขวด
  • ตัวทำละลายที่ประกอบด้วย Ethanol ที่มีความเข้มข้น 13% ต่อขวด

คาบาซิแทคเซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาคาบาซิแทคเซลกับผู้ป่วยมะเร็ง จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยานี้ได้แก่ พื้นที่ผิวของร่างกายผู้ป่วย รวมถึง อายุ ประวัติการเจ็บป่วย หรือโรคประจำตัว และแพทย์มีความจำเป็นต้องให้ยาอื่นๆ ป้องกันอาการแพ้ต่างๆจากยานี้ล่วงหน้า 30 นาทีก่อนฉีดยาคาบาซิแทคเซล ดังนี้

  • ยาต้านฮีสตามีน เช่น Dexchlorpheniramine 5 มิลลิกรัม หรือ Diphenhydramine 25 มิลลิกรัม
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น Dexamethasone 8 มิลลิกรัม
  • ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ เช่น Ranitidine 50 มิลลิกรัม

การให้ยานี้กับผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ จะต้องเจือจางยาคาบาซิแทคเซลด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ 0.9% หรือสารละลายเดกซ์โทรส 5% และต้องระวังการแทงเข็มไม่ให้ทะลุหลอดเลือด

ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาคาบาซิแทคเซล แพทย์จะสั่งจ่ายยา Prednisone ให้ผู้ป่วยมารับประทานขณะอยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยควบคุมอาการแพ้ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้

กรณีพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เช่น

  • มีอาการคล้ายกับภาวะติดเชื้อ เช่น ไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • อึดอัด /หายใจไม่ออก
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร และยาบรรเทาอาการ/ยาแก้คลื่นไส้ที่แพทย์ให้มาใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
  • ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • อุจจาระมีสีคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะน้อยลง
  • มีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • เกิดอาการ ตัวเหลืองตาเหลือง

ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับคาบาซิแทคเซล?

การดูแลตนเองขณะได้รับยาคาบาซิแทคเซลที่สำคัญ เช่น

  • ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง และผู้ป่วยสามารถ ปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆแต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ ดังกล่าว
  • กรณีเกิดอาการท้องเสียต้องใช้ยาบรรเทาอาการ/ยาแก้ท้องเสียที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ที่ตรวจรักษาผู้ป่วยเท่านั้น
  • รับประทานยาลดอาการแพ้ เช่น Prednisone ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็น แผลเลือดออก เพราะเลือดจะออกง่ายและหยุดยาก
  • ยาชนิดนี้สามารถทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง จึงควรสวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดดให้มิดชิด หรือทาผิวด้วยครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่แพทย์/พยาบาลแนะนำ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาบาซิแทคเซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ โรคไต มีภาวะเลือดออกง่าย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาบาซิแทคเซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาคาบาซิแทคเซลตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย หากลืมมารับการฉีดยา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทราบ และรีบทำการนัดหมายการให้ยานี้ครั้งต่อไปโดยเร็ว

คาบาซิแทคเซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาบาซิแทคเซลเป็นยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งชนิดมีการแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ยาคาบาซิแทคเซลไม่ใช่ยารักษาตรงเป้าจึงทำให้เกิดผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ ปวดบริเวณคอหอย
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น เอนไซม์ในตับสูง ค่าบิลิรูบินเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อุดตัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น บวม ความดันโลหิตต่ำหรือสูง ใบหน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเต้นเร็ว หัวใจวาย หัวใจหยุดเต้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง มีผื่นแดง ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น โรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้องูสวัด การติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อราแคนดิดา
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ น้ำตาไหลมาก
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อกระดูก ปวดตะโพก กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด มีภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดสูง ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ปวดเชิงกราน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก โลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน มีไข้ ปวดศีรษะ ง่วงนอน เกิดพิษต่อระบบประสาท มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน หูดับ เกิดอาการชัก

อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล

มีข้อควรระวังการใช้คาบาซิแทคเซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาบาซิแทคเซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ป้องกันการตั้งครรภ์ระหว่างที่ได้รับยาชนิดนี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • มีอาการผมร่วง ซึ่งเราจะพบเห็นได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด การงอกของเส้นผมจะกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยานี้
  • ขณะที่ได้รับยานี้ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆนอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • กรณีที่มีอาการข้างเคียงรุนแรงหลังใช้ยานี้ ควรรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย ตรวจภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และรับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาบาซิแทคเซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาบาซิแทคเซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาบาซิแทคเซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาคาบาซิแทคเซล ร่วมกับยา Adalimumab , Baricitinib เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น
  • ห้ามใช้ยาคาบาซิแทคเซลร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะกดไขกระดูกสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้มีระดับเม็ดเลือดชนิดต่างๆต่ำลงจนอาจเกิดอันตราย
  • การใช้ยาคาบาซิแทคเซลร่วมกับ ยาAmiodarone จะทำให้ระดับยาคาบาซิแทคเซลในเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆสูงขึ้นตามมาจากยาคาบาซิแทคเซล เช่น คลื่นไส้อาเจียน ตัวบวม ท้องเสีย ปวดปลายประสาท กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาคาบาซิแทคเซลร่วมกับวัคซีนอีสุกอีใส ด้วยอาจทำให้ร่างกายผู้ป่วย ติดเชื้อจากตัววัคซีนเสียเอง

ควรเก็บรักษาคาบาซิแทคเซลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาคาบาซิแทคเซล ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หรือเก็บตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • ตัวยาที่เจือจางในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ 0.9% หรือสารละลายเดกซ์โทรส 5% สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง กรณีจัดเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถจัดเก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ควรเก็บรักษาคาบาซิแทคเซลอย่างไร?

ยาคาบาซิแทคเซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Jevtana (เจปทานา)Sanofi-Aventis

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/cabazitaxel.aspx [2018,Sept22]
  2. http://www.jevtana.com/ [2018,Sept22]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/jevtana/?type=brief [2018,Sept22]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cabazitaxel [2018,Sept22]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/201023lbl.pdf[2018,Sept22]
  6. https://www.drugs.com/sfx/cabazitaxel-side-effects.html [2018,Sept22]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/cabazitaxel-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Sept22]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/cabazitaxel-index.html?filter=3#V_generic [2018,Sept22]