คอหอยพอก (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

คอหอยพอก

นอกจากนี้สาเหตุของการเป็นโรคคอพอกยังประกอบด้วย

  • เพศ – ผู้หญิงมักมีปัญหาเรื่องคอพอกมากกว่า
  • อายุ – ยิ่งมีอายุมากขึ้นยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็น
  • อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ (Pregnancy) และอยู่ในวัยหมดประจำเดือน (Menopause)
  • การสูบบุหรี่ – ซึ่งอาจมีส่วนสัมพันธ์กัน เนื่องจากยาสูบมีส่วนผสมของสารเคมีที่เรียกว่า ไธโอไซยาเนท (Thiocyanate) ที่คอยขัดขวางการใช้ไอโอดีนของร่างกาย

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคอพอกใช้การตรวจหลายวิธีซึ่งรวมถึง

  • การตรวจทางกายภาพ
  • การตรวจเลือด เพื่อดูระดับไทรอย์ดฮอร์โมน
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound scan)
  • การใช้เข็มเจาะเพื่อดูดเซลล์ไปตรวจ (Fine needle biopsy)
  • การตรวจต่อมไทรอยด์โดยการให้ผู้ป่วยรับประทานเกลือไอโอดีนที่อาบรังสี รอจนกระทั่งไอโอดีนเข้าไปจับที่เนื้อต่อมไทรอยด์เต็มที่ จะทำการสแกนหลังจากรับประทานไปแล้ว 4-6 ชั่วโมง และอีกครั้งหนึ่งหลังจากดื่มไปแล้ว 24 ชั่วโมง (Radioactive iodine scan)

ส่วนการรักษานั้นขึ้นกับสาเหตุเป็นสำคัญ เช่น

  • กรณีที่เกิดจากการขาดสารไอโอดีน – รักษาโดยการให้กินอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เกลือผสมไอโอดีน
  • กรณีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน – รักษาโดยการกินยาที่ลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ หากไม่ได้ผลอาจต้องตัดไทรอยด์ทิ้งบางส่วนหรือทั้งหมด
  • กรณีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ – รักษาด้วยการกินฮอร์โมนเพิ่ม
  • กรณีมีตุ่มที่ไทรอยด์ – รักษาด้วยการกินยาเพื่อลดขนาด และผ่าออกหรือทำลายด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน (Radioactive iodine treatment)
  • กรณีที่เป็นมะเร็งไทรอยด์ – รักษาด้วยการผ่าตัดแล้วตามด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน

ทั้งนี้ เราสามารถพบสารไอโอดีนได้จาก

  • อาหารทะเล เช่น ปลา หอย สาหร่าย
  • ต้นพืช (เกิดจากห่วงโซ่อาหารทำให้ต้นไม้ดูดซึมไอโอดีนจากดินได้) เช่น เมล็ดธัญพืช
  • นมวัว

แหล่งข้อมูล

  1. Goitre. http://www.cdc.gov/fluoridation/faqs/ [2015, January 21].
  2. Goitre. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/Goitre [2015, January 21].