คอลลาเจน มหัศจรรย์จริงหรือ ? (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

มีการใช้คอลลาเจนอย่างแพร่หลายทั้งในรูปของอาหารและยา เช่น ใช้ในศัลยกรรมความงาม (Cosmetic surgery) และการผ่าตัดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ (Burns surgery) นอกจากนี้ยังมีการใช้คอลลาเจนในรูปของการหุ้มไส้กรอก และในอุตสาหกรรมของดนตรีเครื่องสาย (Musical strings)

คอลลาเจนสามารถใช้ในการปลูกถ่ายกระดูก (Bone grafting) เพราะคุณสมบัติที่คอลลาเจนมีโครงสร้าง 3 สาย (Triple helical structure) จึงช่วยให้โมเลกุลเกาะตัวกันแน่น

คอลลาเจนใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (Tissue regeneration) ได้ เพราะมีคุณสมบัติเป็นรูพรุน (Pore structure) ซึมผ่านได้ (Permeability) ละลายในน้ำได้ง่าย (Hydrophilicity) และคงอยู่ในร่างกายที่มีชีวิต (Stable in vivo)

ส่วนคอลลาเจนที่ใช้ในการสร้างผิวเทียมเพื่อรักษาแผลที่เกิดจากการไหม้อย่างรุนแรง เป็นคอลลาเจนที่อาจได้รับมาจากวัว (Bovine) ม้า (Equine) หมู (Porcine) หรือจากคนเอง บางทีก็ใช้ร่วมกับสารอื่น เช่น ซิลิโคน (Silicones) ไกลโคซามิโนไกลแคนส์ (Glycosaminoglycans) ไฟโบรบลาส (Fibroblasts) เป็นต้น

การใช้คอลลาเจนในการตกแต่งแผลไฟไหม้ทำให้แผลหายเร็ว เพราะคอลลาเจนจะต้านแบคทีเรียซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำให้แผลติดเชื้อ ทำให้แผลปลอดเชื้อและหายได้เร็ว

นอกจากนี้ยังมีการใช้คอลลาเจนในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่เป็นประจำ เช่น การปลูกถ่ายเซลล์ การศึกษาพฤติกรรมของเซลล์ และปฏิกริยาของเซลล์ต่อสภาพแวดล้อมภายนอกเซลล์

มีผู้ผลิตอาหารเสริมคอลลาเจนหลายรายที่อ้างว่า สินค้าของตนเองสามารถช่วยพัฒนาผิวหนังและเล็บมือได้ อย่างไรก็ดีผลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้เป็นที่ชัดเจนถึงคุณสมบัตินี้ได้

ทั้งนี้เพราะการดูดซึมโปรตีนเข้าสู่ร่างกายจำเป็นต้องผ่านกระบวนการย่อยก่อน โปรตีนทุกชนิดจะถูกเอนไซม์หลายชนิดในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กย่อยสลาย จากโปรตีนที่เป็นสายยาวจะถูกเอนไซม์ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เหลือเพียงหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด คือ กรดอะมิโน แล้วร่างกายจึงดูดซึมกรดอะมิโนเพื่อนำไปประกอบกันขึ้นใหม่เป็นโปรตีนที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้

คอลลาเจนเองก็ต้องถูกย่อยจนกลายเป็นกรดอะมิโน จึงไม่เหลือสภาพความเป็นคอลลาเจน ไม่แตกต่างจากโปรตีนชนิดอื่นๆ คอลลาเจนไม่ได้ถูกดูดซึมไปทั้งเส้นแล้วตรงไปประกอบเข้าเป็นผิวหนังอย่างที่หลายคนจินตนาการจากคำโฆษณา คอลลาเจนชนิดที่ทาผิวก็ไม่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้เช่นกัน

ดังนั้น หากต้องการให้ร่างกายมีคอลลาเจนอย่างเพียงพอ มีเพียงการบำรุงรักษากลไกของร่างกายที่ทำหน้าที่สร้างคอลลาจนเท่านั้น การบำรุงรักษานั้นเพียงแค่รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้นเอง

กล่าวคือ วัตถุดิบที่จำเป็นในการสังเคราะห์คอลลาเจน เราได้รับอย่างเพียงพอจากอาหารอยู่แล้ว การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นให้กลไกทำงาน และการพักผ่อนช่วยให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายสึกหรอช้าลง

แหล่งข้อมูล:

  1. Collagen. http://en.wikipedia.org/wiki/Collagen [2014, April 18].