คอลลาเจน มหัศจรรย์จริงหรือ ? (ตอนที่ 2)

คอลลาเจน (Collagen) เป็นโปรตีนที่สร้างจากกรดอะมิโน (Amino-acids) ที่ชื่อว่า ไกลซีน (Glycine) โปรลีน (Prolineจ ไฮดรอกซิโพรลีน (Hydroxyproline) และอาร์จีนีน (Arginine)

คอลลาเจนสร้างโปรตีนในร่างกายได้ประมาณร้อยละ 30 ของโปรตีนทั้งหมด พบได้ทั่วไปที่บริเวณกระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendons) และเอ็นยึดกระดูก (Ligaments)

นอกจากนี้ยังพบในกระจกตา (Cornea) หลอดเลือด (Blood vessels) กระดูกอ่อน (Cartilage) หมอนรองกระดูก (Intervertebral disc) และทางเดินอาหาร (Digestive tract)

เราสามารถพบคอลลาเจนธรรมชาติได้ในสัตว์ โดยเฉพาะในเนื้อ (Flesh) และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คอลลาเจนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำให้ผิวหนังแข็งแรง (Firmness) ดัดได้ (Suppleness) และผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังใหม่ คอลลาเจนเป็นส่วนสำคัญของการยืดหยุ่นของผิวหนัง (Skin elasticity)

ในเซลล์กล้ามเนื้อ คอลลาเจนจะเป็นส่วนประกอบหลักของเยื่อหุ้มใยกล้ามเนื้อ (Endomysium) ประมาณร้อยละ 1-2 ของกล้ามเนื้อ และประมาณร้อยละ 6 ของน้ำหนักตัว จะประกอบด้วยคอลลาเจน เจลาติน (Gelatin) ที่ใส่ในอาหารก็เป็นคอลลาเจนที่ไม่ย่อยสลาย (Irreversibly hydrolyzed)

คอลลาเจนช่วยให้ความแข็งแรงต่อโครงสร้างหลายๆ แห่งของร่างกาย และปกป้องโครงสร้าง เช่น ผิวหนัง ด้วยการป้องกันการดูดซึมและการกระจายตัวของสารที่ทำให้เกิดโรค (Pathogenic substances) พิษของสภาพแวดล้อม (Environmental toxins) เป็นต้น คอลลาเจนเป็นเหมือนซีเมนต์ที่ยึดทุกอย่างเข้าด้วยกัน

เรายังสามารถพบคอลลาเจนได้ในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle tissues) หลอดเลือดในทางเดินอาหาร หัวใจ ถุงน้ำดี (Gallbladder) ไต และกระเพาะปัสสาวะ (Bladder) ที่ยึดเซลล์และเนื้อเยื่อเข้าด้วยกัน นอกจากนี้คอลลาเจนยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเส้นผมและเล็บด้วย

เมื่อมีอายุที่มากขึ้น จะมีการผลิตคอลลาเจนได้ช้า เซลล์จะอ่อนแอลง ผิวจะบางและถูกทำลายได้ง่าย เส้นผมจะไม่มีชีวิตชีวา ผิวจะหย่อนและมีรอยเหี่ยวย่น เส้นเอ็นจะยืดหยุ่นได้น้อยลง ข้อจะแข็ง

ทั้งนี้ คอลลาเจนมีอยู่ 29 ชนิดในเนื้อเยื่อของสัตว์ เช่น

  • คอลลาเจนชนิดที่ 1 พบได้ทั่วไปในร่างกาย ยกเว้นในเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน (Cartilaginous tissues) ประมาณร้อยละ 90 ของคอลลาเจนในร่างกายเป็นคอลลาเจนชนิดนี้
  • คอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบหลักของกระดูกอ่อน และพบในกระจกตาและน้ำวุ้นตา (Vitreous humour)
  • คอลลาเจนชนิดที่ 3 เป็นคอลลาเจนที่พบได้ในผนังหลอดเลือดแดง (Arteries) และอวัยวะอื่นที่มีลักษณะกลวง (Hollow) และมักเกิดในเส้นใยฝอยเดียวกับคอลลาเจนชนิดที่ 1
  • คอลลาเจนชนิดที่ 4 พบเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์
  • คอลลาเจนชนิดที่ 5 และคอลลาเจนชนิดที่ 6 เป็นส่วนประกอบย่อยของของเนื้อเยื่อ และเป็นเส้นใยฝอย (Fibril) ของคอลลาเจนชนิดที่ 1 และคอลลาเจนชนิดที่ 2

แหล่งข้อมูล:

  1. Collagen - What is Collagen? http://www.news-medical.net/health/Collagen-What-is-Collagen.aspx [2014, April 17].
  2. Collagen Types and Linked Disorders. http://www.news-medical.net/health/Collagen-Types-and-Linked-Disorders.aspx [2014, April 17].