ควินาโซลิโนน (Quinazolinones)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาควินาโซลิโนน(Quinazolinones) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างทางเคมีที่เอื้อประโยชน์ต่อการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายประเภท อนุพันธ์(Derivative,สารที่มาจากสารเริ่มต้นเดียวกัน)คือกลุ่มสารประกอบมีโครงสร้างหลักจากควินาโซลิโนนถูกนำมาใช้เป็น ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ ยาต้านมาลาเรีย/ยารักษามาลาเรีย ยาต้านเชื้อรา ยากันชัก ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาวัณโรค ยารักษามะเร็ง ยารักษาความดันโลหิตสูง/ยาลดความดันโลหิต ยาแก้ปวด และยานอนหลับ เป็นต้น

อนุพันธ์ควินาโซลิโนนที่ใช้ทางคลินิกมีอะไรบ้าง?

ควินาโซลิโนน

สาร/ยาควินาโซลิโนนมีสูตรโมเลกุล คือ C8H6N2O การสังเคราะห์ยาตัวอื่นที่มีต้นแบบมาจากควินาโซลิโนน หรือเรียกกันว่าอนุพันธ์นั้น ได้มาจากกระบวนการทางเคมี โดยนำเอาหมู่อะตอมของธาตุที่แสดงสมบัติเฉพาะเข้ามาประกอบเข้ากับ ควินาโซลิโนน จนเกิดเป็นสูตรโครงสร้างใหม่ที่ทำให้มีคุณสมบัติรักษาโรคที่แตกแขนงออกไปได้อย่างมากมาย

ตัวยาที่เป็นอนุพันธ์ของควินาโซลิโนนเท่าที่พบเห็นการใช้ทางคลินิกมีดังนี้

1. ใช้เป็นยานอนหลับ: อนุพันธ์ของยาควินาโซลิโนนกลุ่มนี้ จะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า GABA receptor ซึ่งอยู่ในสมอง ส่งผลให้ปิดกั้นการส่งสัญญาณของกระแสประสาท ที่คอยกระตุ้นให้ร่างกายมีการตื่นตัว การปิดกั้นสัญญาณประสาทดังกล่าว ส่งผลให้กระบวนการนอนหลับเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มอนุพันธ์นี้ ได้แก่ Cloroqualone, Diproqualone, Mebroqualone, Mecloqualone, และ Methaqualone

2. ใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และบำบัดอาการผู้ที่มีภาวะหัวใจวาย/ หัวใจล้มเหลว เป็นอนุพันธ์ของยาควินาโซลิโนนที่มีส่วนประกอบของหมู่อะตอมที่เข้ามารวมตัวจนกระทั่งได้โครงสร้างใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็น ยาขับปัสสาวะ(Thiazide-like diuretic)ที่ตัวยามีผลทำให้ไต ขับเกลือโซเดียมและคลอไรด์ออกจากร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง ช่วยให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนัก ยาในกลุ่มนี้ เช่น Metolazone และ Quinethazone(ยกเลิกการใช้ไปแล้ว)

นอกจากนี้ อนุพันธ์ควินาโซลิโนนอีกประเภทที่ ไม่ใช่ยาขับปัสสาวะ แต่เป็นกลุ่มเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์(Serotonin antagonist) เช่น Ketanserin ยานี้จะออกฤทธิ์กับตัวรับบริเวณหลอดเลือดชนิด 5HT2 receptor ส่งผลยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือดที่มีอิทธิพลจากสารสื่อประสาทเซโรโทนิน(Serotonin หรือ 5HT) จึงทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง

3. ใช้เป็นยาต่อต้านเชื้อมาลาเรีย: เป็นยาควินาโซลิโนนในประเภทอัลคาลอยด์(Quinazolinone alkaloid) ที่สกัดได้จากต้นพืชของประเทศจีนที่ชื่อว่า Dichroa febrifuga รวมถึงพืชจำพวกไม้ดอกอย่าง Hydrangea ยาที่สกัดได้จากพืชดังกล่าว คือ Febrifugine แต่ได้รับความนิยมในวงการแพทย์ไม่มาก ด้วยยาFebrifugine ก่อให้เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และปัจจุบันมียาต้านมาลาเรียตัวอื่นที่เป็นทางเลือกอีกมากมาย อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ได้นำสาร Febrifugine มาผ่านกระบวนการทางเคมีโดยเติมธาตุคลอรีน(Cl)และโบรมีน(Br) ลงในสูตรโมเลกุลและได้สารประกอบใหม่ที่มีชื่อว่า Halofuginone มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อบิดแต่ใช้รักษาสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

4. ใช้รักษาโรคมะเร็ง: อนุพันธ์ควินาโซลิโนนที่ชื่อว่า Idelalisib ทางคลินิกได้นำมารักษาอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโพไซด์แบบเรื้อรังชนิดบีเซลล์ (Chronic lymphocytic leukemia) โดยใช้ควบคู่กับยา Rituximab กลไกของ Idelalisib จะกระตุ้นให้เกิดการตายและป้องกันการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์(B-cell) ซึ่งถือว่าเป็นกลไกการออกฤทธิ์ของยาIdelalisib

ในกลุ่มยาควินาโซลิโนนที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ยังมียารักษามะเร็งลำไส้อีกหนึ่งรายการ คือ Raltitrexed เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในลักษณะที่เรียกว่า Antimetabolite โดยตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Thymidylate synthase ส่งผลให้การแบ่งตัวของ DNA ในเซลล์มะเร็งถูกยับยั้งและทำให้เซลล์ มะเร็งตายลง

5. ใช้เป็นยาต้านการอักเสบ: เป็นสารอนุพันธ์ยาควินาโซลิโนนอีกประเภทหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและอยู่ในกลุ่ม NSAIDs เช่น Proquazone (ยายังมีการใช้จำกัด) สามารถใช้รักษา โรคข้อรูมาตอยด์ ข้ออักเสบ ตลอดจนอาการเจ็บ/ปวดของกล้ามเนื้อ และการปวดแบบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามหากประเมินเรื่องผลข้างเคียงที่ดูจะรุนแรง เช่น ทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ยา Proquazone ไม่ได้รับความนิยม ประกอบกับปัจจุบันมี NSAIDs ตัวอื่นที่สามารถใช้เป็นทางเลือกอีกมากมาย

ควินาโซลิโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย และขนาดการใช้ยาอย่างไร?

ยาควินาโซลิโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด และยาแคปซูล ชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด เข้าทางหลอดเลือดดำ

*ทั้งนี้ ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาควินาโซลิโนนตามรูปแบบเภสัชภัณฑ์ข้างต้นจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ควินาโซลิโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาควินาโซลิโนน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับเกลือแร่ (Electrolyte)ในร่างกาย/ในเลือดต่ำ
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

*อนึ่ง ผลไม่พึงประสงค์ฯที่ได้กล่าว อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล

มีข้อควรระวังการใช้ควินาโซลิโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาควินาโซลิโนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาควินาโซลิโนนโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด/หายใจลำบาก ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาควินาโซลิโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ควรเก็บรักษาควินาโซลิโนนอย่างไร?

ควรเก็บยาควินาโซลิโนน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บยาตามข้อแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Quinazolinone [2018,Feb17]
  2. http://www.irjponline.com/admin/php/uploads/716_pdf.pdf [2018,Feb17]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Quinazolinones [2018,Feb17]
  4. https://www.drugs.com/monograph/metolazone.html [2018,Feb17]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Febrifugine [2018,Feb17]
  6. http://www.mims.com/singapore/drug/info/ketanserin?mtype=generic [2018,Feb17]
  7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/3297621 [2018,Feb17]
  8. http://www.bccancer.bc.ca/drug-database-site/Drug%20Index/Raltitrexed_monograph_1June2013_formatted.pdf [2018,Feb17]