ความไม่เท่าเทียมกันของน้ำในหู (ตอนที่ 4)

ความไม่เท่าเทียมกันของน้ำในหู

ยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่ก็มีหลายวิธีที่ช่วยบำบัดอาการ จากงานวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้จะตอบสนองต่อการรักษา แม้ว่าจะไม่สามารถป้องการการสูญเสียการได้ยินในระยะยาวได้

ยาที่ใช้รักษาเพื่อบรรเทาอาการที่ร้ายแรง ได้แก่

  • ยาที่ใช้รักษาภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว (Motion sickness medications) เช่น ยา Meclizine (Antivert) หรือยา Diazepam (Valium) ที่ใช้ลดอาการบ้านหมุนและช่วยควบคุมอาการคลื่นเหียนอาเจียน
  • ยาบรรเทาอาการคลื่นเหียนอาเจียน (Anti-nausea medications) เช่น ยา Promethazine

ส่วนการใช้ยาในระยะยาวจะเป็นยาที่ใช้คงระดับของเหลวในร่างกายหรือกลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretic) ซึ่งการใช้ยาลดของเหลวในร่างกายอาจจะช่วยในการรักษาระดับของเหลวและแรงดันในหูชั้นในได้ แต่เนื่องจากยาขับปัสสาวะทำให้มีการถ่ายปัสสาวะบ่อย อาจเป็นสาเหตุให้ร่างกายขาดแร่ธาตุบางอย่าง เช่น โปแตสเซียม ดังนั้นอาจต้องกินอาหารที่อุดมด้วยโปแตสเซียมเพิ่มมากขึ้น เช่น กล้วย แคนตาลูป ส้ม เป็นต้น

บางคนอาจใช้การรักษาแบบ Noninvasive therapies เช่น

  • การฝึกระบบประสาททรงตัวหรือฟื้นฟูการทรงตัวที่เสียไป ที่เราเรียกว่า Vestibular rehabilitation
  • การใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aid)
  • การใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Meniett device ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใส่เข้าไปในหูเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแรงดันในหูชั้นกลางทำให้ของเหลวในหูไหลเวียนดี ส่งผลไปยังหูชั้นใน ทำให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าหู (Intratympanic injection) ซึ่งอาจพิจารณาฉีดยา Gentamicin หรือยา Corticosteroids เข้าในหูชั้นกลางโดยผ่านทางเยื่อแก้วหู เพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน

โดยยา Gentamicin จะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ แต่ก็อาจทำให้สูญเสียการได้ยินมากขึ้นในบางคน ในขณะที่ยา Corticosteroids ทำให้มีการสูญเสียการได้ยินที่น้อยกว่า แต่ก็อาจลดอาการวิงเวียนได้น้อยกว่า

สำหรับกรณีที่มีอาการรุนแรง ทำให้อ่อนเพลีย และการรักษาอื่นไม่สามารถช่วยได้ การผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งโดยมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีความเสี่ยง ข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ หู คอ จมูกเรื่องรายละเอียดการรักษาก่อนตัดสินใจ เช่น

  • Endolymphatic sac procedures เพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำในหู ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะด้วยการเพิ่มหรือลดน้ำในหู
  • Vestibular nerve section วิธีนี้จะมีการตัดเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างหูชั้นในและสมอง (Vestibular nerve) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน มักทำในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมาก แต่ยังมีการได้ยินดีอยู่
  • Labyrinthectomy เป็นการผ่าตัดทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยินและการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งจะช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ดี แต่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินในข้างนั้นด้วย มักจะทำในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นมากแล้ว แต่ยังมีอาการเวียนศีรษะมากอยู่

แหล่งข้อมูล

1. Meniere's disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menieres-disease/basics/definition/con-20028251 [2014, October 5].
2. Meniere's Disease. http://www.entnet.org/content/menieres-disease [2014, October 5].