ความไม่เท่าเทียมกันของน้ำในหู (ตอนที่ 1)

ความไม่เท่าเทียมกันของน้ำในหู

พญ.จิรัฐา งามศิริเดช แพทย์ หู คอ จมูก ได้อธิบายถึง โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) ว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยโรคดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในที่ควบคุมระบบการได้ยินและการทรงตัว ทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน การได้ยินลดลง เสียงก้องในหู และแน่นหูได้

พญ.จิรัฐา กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดและบางครั้งอาจไม่พบสาเหตุ แต่มีตัวกระตุ้นหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

โดยปัจจัยภายนอกได้แก่ ความเครียด การอดนอน การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนรวมถึงการมีประจำเดือน โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หูน้ำหนวก ซิฟิลิส เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อน ปวดศีรษะไมเกรน

สำหรับปัจจัยภายใน เกิดจากโรคทางกรรมพันธุ์ พบได้ถึงร้อยละ 10-20 และพบบ่อยในครอบครัวที่เป็นไมเกรน ภาวะร่างกายมีภูมิต้านทานต่อหูชั้นใน ซึ่งผู้ที่มีโอกาสเป็นจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอัตราส่วน 2:1 และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วย โดยช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือระหว่าง 40-70 ปี

พญ.จิรัฐา กล่าวต่อว่า อาการของโรคดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มอาการ ได้แก่

  1. เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน โดยปกติมักเป็นทันทีทันใด มีอาการเป็นๆหายๆ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแต่ละครั้งอาจจะมีอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  2. ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง มักจะมีอาการเป็นๆหายๆ โดยอาจเป็นหูข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบเป็นหูข้างเดียวมากกว่า
  3. เสียงดังในหู แน่นหู อาจทนเสียงดังไม่ได้

ส่วนการรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พญ.จิรัฐา กล่าวว่า จะต้องควบคุมอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ทำให้อาการทางหูและการได้ยินกลับมาปกติ โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยทางด้านการปฏิบัติตัวและการรักษาด้วยยา

ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยต้องงดอาหารเค็ม เช่น ขนมซองที่มีเกลือปริมาณมาก เครื่องดื่มบำรุงกำลังบางชนิด งดเหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด

พญ.จิรัฐา กล่าวในตอนท้ายว่า อาการเวียนศีรษะโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมิใช่เรื่องที่น่ากลัว หากคุณหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว สามารถมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาอาจต้องใช้ความอดทนและความร่วมมือในจากผู้ป่วย หากช่วยกันก็สามารถทำให้อาการกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติได้

แหล่งข้อมูล

1. น้ำในหูไม่เท่ากัน โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม http://www.dailynews.co.th/Content/Article/260425/น้ำในหูไม่เท่ากัน+โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม [2014, October 2].