ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง 11 ประการในการดูแลผู้สูงอายุ

ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง-11-ประการในการดูแลผู้สูงอายุ

ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วครับ ในแต่ละวันผมตรวจผู้ป่วย พบว่าคนไข้ที่มารับการรักษากับผมมากกว่าครึ่งเป็นผู้ที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี โรคที่พบบ่อย คือ โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ความดันโลหิตสูง เบาหวาน วิงเวียนศีรษะ มึนงง ลมชัก และสมองเสื่อม นอกจากปัญหาตัวโรคที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุแล้ว ผมยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลจากลูกหรือผู้ดูแล แต่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการดูแลผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผลการรักษาได้ผลไม่ดี และสุดท้ายเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตไม่ดีตามที่ควรจะเป็น ผมสรุปได้ 11 ประเด็น ดังนี้

1.ผู้สูงอายุไม่ควรทำอะไรเลย ควรให้นั่งกิน นอนกิน ไม่ควรทำงานบ้าน ไม่ควรปลูกต้นไม้ เพราะกลัวพ่อแม่จะเหนื่อย: เป็นประเด็นที่ผมพบว่ามีความเข้าใจผิดบ่อยที่สุด จริงแล้วการให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมในการดำรงชีวิตเหมือนกับคนอื่นๆ นั้นจึงจะเหมาะสมครับ เพราะการที่ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสามารถ ตามสิ่งที่ชอบ และการทำกิจวัตรประจำวันได้เองทั้งหมดนั้น เป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรง จิตใจสดชื่น ที่สำคัญทำให้สมองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการเกิดสมองเสื่อมได้

2.ผู้สูงอายุควรนอนพักมาก ๆ กลางวันก็ไม่ต้องทำอะไร ทานอาหารเสร็จก็ควรนอนพักสามเวลาหลังอาหาร: ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้ทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหานอนไม่หลับตอนกลางคืน และตามมาด้วยการใช้ยานอนหลับ จริงแล้วผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องนอนกลางวันเลยก็ได้ถ้าไม่เคยนอนกลางวันมาก่อน หรือไม่ง่วงนอนเลย ถ้าจะนอนก็ไม่ควรนอนนานเกิน 30-60 นาที ช่วงบ่ายๆ หลังทานอาหารกลางวันน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดถ้าจะนอน ช่วงเช้าควรมีกิจกรรมต่างๆ มากกว่าการนอน

3.ผู้สูงอายุต้องทานยาบำรุงหลายๆชนิด ทั้งบำรุงสมอง บำรุงกระดูก กระตุ้นความอยากอาหาร เป็นต้น: ปัจจุบันจะพบว่าแนวคิดการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตะมินบำรุง ยาบำรุงต่างๆ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จริงแล้วผู้สูงอายุถ้าทานอาหารได้ครบทุกหมู่ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทานวิตะมิน ยาบำรุงหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ถ้าจะทานก็ต้องศึกษาให้ละเอียดว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาบำรุงเหล่านั้นมีอันตรกิริยา (drug-food-drug interaction) กับยาที่ทานเป็นประจำหรือไม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ทานยาละลายลิ่มเลือด (anticoagulant) โรคตับวาย โรคไตวาย เป็นต้น

4.ผู้สูงอายุควรเปลี่ยนที่พักบ่อยๆ เพื่อความสดชื่นๆ และแปลกใหม่: ประเด็นนี้ดูเหมือนจะดี และน่าจะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขดี เพราะจะได้ไปอยู่กับลูก หลานได้ครบทุกคน ซึ่งก็จริงถ้าผู้สูงอายุเหล่านั้นมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะปัญหาด้านความจำหรือโรคสมองเสื่อม แต่ถ้าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวดังกล่าว การเปลี่ยนที่อยู่อาศัย หรือเพียงแค่การไปเที่ยวก็อาจทำให้ผู้สูงอายุมีความสับสนแบบเฉียบพลัน (delirium) เกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นเราต้องมีความสังเกตอย่างละเอียดว่าผู้สูงอายุนั้นมีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับความจำ หลงลืมหรือไม่ ถ้ามีปัญหาดังกล่าวต้องมีความระมัดระวังในการเปลี่ยนที่พักหรือไปเที่ยว โดยการพูดกับผู้สูงอายุบ่อยๆ แนะนำที่อยู่ใหม่บ่อยๆ ให้เกิดความคุ้นเคยอย่างดี ที่สำคัญอย่าลืมนำยาที่ท่านทาน เอกสารที่สรุปประวัติการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุติดตัวไปด้วยเสมอ

5.ผู้สูงอายุไม่ควรถูกแดดตอนเช้า: ความเข้าใจผิดประเด็นนี้น่าจะเกิดจากที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน แดดร้อน ลูกหลานจึงกลัวผู้สูงอายุได้รับผลกระทบจากการถูกแดดร้อน จริงแล้วผู้สูงอายุมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการถูกแดดอ่อนๆ ช่วงเช้าๆ ถึงสายๆ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการให้ผู้สูงอายุได้ถูกแดด ประโยชน์คือ นอกจากได้การสร้างวิตะมินดีจากแสงแดดแล้ว (คนไทยยังมีภาวะขาดวิตะมินดีจากการออกแดดอยู่เป็นจำนวนมาก) เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีความตื่นตัว รู้จักเวลากลางวัน กลางคืน คือ รู้เวลาที่ถูกต้อง ก็จะเป็นการลดการสับสนเฉียบพลันที่อาจพบได้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะความจำไม่ดี หลงลืม หรือภาวะสมองเสื่อม บริเวณที่เหมาะสมในการรับแดดอ่อนๆ เช่น ระเบียงหน้าบ้าน ใต้ต้นไม้ หรือสวนสาธารณะ เป็นเวลาอย่างน้อย 30-60 นาที

6.ผู้สูงอายุต้องรีบทานยาทันทีเมื่อมีอาการเจ็บป่วยใดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการที่รุนแรงมากขึ้น: ความเข้าใจนี้ก็ดูเหมือนจะถูกต้อง แต่จริงแล้วอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ได้แก่ ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดเข่า วิงเวียน ไอ น้ำมูก เจ็บคอ อาการต่างๆเหล่านี้ สามารถหายเองได้ โดยไม่ต้องใช้ยาเลย เพียงแค่การดูแลตนเอง เช่น อาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็ใช้การบีบนวด คลายกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี ไอ เจ็บคอก็ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ นอนพักผ่อน ใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นช่วงที่มีการเปลี่ยนของอากาศก็ทำให้ลดอาการต่างๆ เหล่านั้นลงไปได้

ยาที่ไม่ควรใช้เป็นประจำต่อเนื่องระยะยาวคือยาแก้วิงเวียนศีรษะ ชื่อ ฟลูนาลิซีน (flunarizine) ซีนนาริซีน (cinnarizine) เพราะอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทกลุ่มอาการคล้ายพาร์กินสัน (parkinsonism)

ทำไมไม่อยากให้ทานยาแก้อาการเหล่านั้น ก็เพราะว่ายาที่นิยมใช้กันและซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป คือ ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NAIDs)และยาปฏิชีวนะ ยาลดน้ำมูกที่มีส่วนผสมของซูโดเอฟฟิดีน ยาเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุได้ง่าย เช่น กัดกระเพาะอาหาร ลำไส้ ไตวาย สับสนเฉียบพลัน ได้ง่าย

ถ้าผู้สูงอายุได้รับการดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น เราจึงพาผู้สูงอายุพบแพทย์ พยายามหลีกเลี่ยงการซื้อยาทานเอง เพราะผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวและทานยาประจำ อาจส่งผลให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่ทานประจำกับยาที่ซื้อทานเอง

7.ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหลายโรค ก็ควรรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละโรคโดยเฉพาะ: ฟังดูก็ดีครับแบบตรงไปตรงมา เพราะผู้สูงอายุจะได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แต่ปัญหามันเกิดขึ้น คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาแยกกันดูปัญหาของผู้สูงอายุ โดยที่ไม่ได้มองแบบองค์รวมในผู้สูงอายุแต่ละท่าน และบางครั้งแพทย์อยู่คนละโรงพยาบาล เลยก่อให้เกิดปัญหาในการดูแลปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ เช่น ต้องพบแพทย์หลายครั้งในแต่ละช่วงเวลา พบแพทย์บ่อยมาก ปัญหาอันตรกิริยาของยากับยา ยากับอาหาร เป็นต้น หรือเกิดความสับสนในการทานยา ยามีจำนวนมาก อาจเกิดการใช้ยาซ้ำซ้อนกันได้

วิธีการแก้ไขประเด็นนี้ ควรมีแพทย์หลักในการดูแลแบบองค์รวมและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละโรคเป็นที่ปรึกษา การพบแพทย์แต่ละครั้ง ผู้สูงอายุต้องมีประวัติการรักษา การใช้ยาของทุกแพทย์ที่ให้การดูแลติดตัวด้วยเสมอ เพื่อลดปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อนกัน

8.ผู้สูงอายุสามารถทานยาเองได้ตามที่ผู้ดูแลจัดไว้ให้: ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วตอนต้นว่าผู้สูงอายุมักจะทานยาหลายชนิด หลายครั้งต่อวัน เพื่อความสะดวกผู้ดูแลจึงจัดยาไว้ให้เป็นชุดๆ แล้วแนะนำให้ผู้สูงอายุทานตามที่จัดไว้ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่ได้ทานยาตามที่จัดไว้ เพราะจำไม่ได้ และบางครั้งก็ทำหล่นมือ โดยที่ไม่รู้ว่าทำหล่น เพราะยาเม็ดเล็ก หยิบจับไม่ถนัดมือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็จะมีมือสั่นร่วมด้วย ทางที่ดีถ้ามีผู้ดูแล ต้องหยิบยาที่จัดไว้ให้ผู้สูงอายุทานต่อหน้าเลยว่าได้ทานและไม่หล่นมือจริงๆ

9.ผู้สูงอายุต้องพบแพทย์สม่ำเสมอและบ่อยครั้ง สังเกตว่าแต่ละครั้งที่ไปพบแพทย์ก็ไม่เห็นแพทย์ทำอะไร ได้แต่พูดคุยเท่านั้น ญาติไม่ค่อยว่างและการพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ด้วยทุกครั้งก็ไม่ค่อยสะดวก จึงซื้อยามาให้ผู้สูงอายุทานแทนการพาไปพบแพทย์: ปัญหานี้ผมเองพบบ่อยมากๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ เดินไม่สะดวก กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์

การซื้อยามาให้ทานแทนการพาไปพบแพทย์นั้นไม่สามารถทดแทนกันได้ ถึงแม้จะไม่ขาดยาก็ตาม เพราะการที่พาไปพบแพทย์นั้น แพทย์จะมีการพูดคุยเพื่อประเมินอาการต่างๆได้ การพูดคุยสามารถบอกได้ว่าผู้สูงอายุมีอาการสับสนหรือไม่ การพูดจาโต้ตอบเป็นอย่างไร และการตรวจร่างกายที่จำเป็น การตรวจวัดความดันโลหิต และการตรวจเช็คเลือดในบางครั้งตามความเหมาะสม ความถี่บ่อยขึ้นกับโรคที่เป็น

ในกรณีที่ไม่สะดวกจริงๆ ผมแนะนำให้สอบถามแพทย์ว่า สามารถรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้หรือไม่ ตรวจเลือดมาจากโรงพยาบาลใกล้บ้านได้หรือเปล่า มีความจำเป็นที่ต้องนำผู้สูงอายุมาพบแพทย์ทุกครั้งหรือไม่ ถ้าไม่สามารถมาได้ ถ่ายคลิปมาให้ดูแทนได้หรือไม่ หรือต่อโทรศัพท์ให้แพทย์คุยกับผู้สูงอายุที่บ้านได้หรือเปล่า จะเห็นได้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ และมีความสะดวกไปพร้อมๆ กัน เพียงแค่ท่านปรึกษากับแพทย์ผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุ

10. ผู้สูงอายุมักมีปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ จึงใส่ผ้าอ้อมอนามัย (แพมเพิส) ให้ตลอดเวลา เพื่อความสะดวกของผู้ดูแล: ประเด็นนี้เกิดจากการที่ผู้ดูแลไม่ทราบถึงผลเสียของการใส่ผ้าอ้อมอนามัย เพราะอาจก่อให้เกิดการแพ้ผ้าอ้อม การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การขับถ่ายที่ผิดปกติ รวมทั้งการที่เราไม่ได้กระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีการขับถ่ายในห้องน้ำ ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่ค่อยได้ลุกเดิน จะนอนเป็นส่วนใหญ่ก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา เช่น การติดเชื้อที่ปอด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การเกิดแผลกดทับ และเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันง่ายขึ้น

11.ผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำต้องได้รับยาเพิ่มความจำจึงจะดีที่สุด: ฟังดูแล้วไม่ถูกต้องตรงไหน ผมขออธิบายดังนี้ครับ โดยธรรมชาติของผู้สูงอายุก็จะมีความเสื่อมของสมองและระบบอื่นๆ ไปตามธรรมชาติ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องความจำอยู่บ้าง หลงลืมมากขึ้นก็พบได้ แต่ท่านก็ยังใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สดชื่น ช่วยเหลือตนเองได้ทุกอย่าง แต่พอนานๆ ลูกหลานมาเยี่ยมสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุ หรือพ่อแม่มีปัญหาความจำ หลงลืมมากขึ้นก็รีบพามาพบแพทย์ทันที ซึ่งพอแพทย์ประเมินก็จะพบว่ามีความจำผิดปกติบ้างไม่มากก็น้อย ลูกหลานก็จะสอบถามว่ามียาเพิ่มความจำหรือไม่ ถ้ามีก็ขอให้สั่งให้ด้วย จริงแล้วต้องขอบอกว่ายาเพิ่มความจำไม่มีครับ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคสมองเสื่อมนั้น ก็มีฤทธิ์เพียงชะลอการเสื่อมของสมองเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ดีขึ้นเลย แต่ผลแทรกซ้อนจากยาเหล่านั้นมีมากพอสมควร ผู้สูงอายุบางรายทานยาแล้วเกิดอาการสับสน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น

สิ่งที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีความจำดี คือ การออกกำลังสมอง โดยการฝึกความจำ เช่น เล่นเกมส์ เล่นไพ่ ร้องเพลง ทำกิจกรรมต่างๆเอง การพูดคุย เล่าเรื่องราวต่างๆ เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยทำให้มีความจำและพฤติกรรมต่างๆ เป็นปกติ หรือลดลงช้ามาก ดังนั้น เมื่อทราบดังนี้แล้ว ในวันแม่ปีนี้ขอให้ลูก หลานทุกคนดูแลคุณพ่อ คุณแม่ และผู้สูงอายุในครอบครัวให้เหมาะสม ถูกต้อง เพื่อที่ท่านจะได้มีสุขภาพกายและใจที่ดี เป็นมิ่งขวัญของเราทุกคนตลอดไป