ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง

ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง

ท่านอาจได้รับข้อความที่ส่งต่อมาทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ดังข้อความต่อไปนี้ ซึ่งมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ผมจึงขออธิบายแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ถูกต้องให้ท่านทราบ ดังข้อความข้างล่าง

ข้อความที่ไม่ถูกต้องในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ข้อความที่ไม่ถูกต้องในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ถูกนำเสนอในโซเซียลมีเดีย ได้แก่

“วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เส้นเลือดฝ่อยในสมองแตกมาฝากค่ะ

จดและจำเอาไว้กันนะคะเพื่อนๆดีมากๆค่ะ

*เมื่อวานนี้เพื่อนผมนอนๆอยู่เส้นเลือดในสมองแตก,ลูกๆไม่รู้วิธีปฐมพยาบาลทำให้ขณะนี้อาการอยู่ในขั้นวิกฤติจึงอยากแชร์.... วิธีการ ‘ปล่อยเลือด’ ช่วยชีวิตจาก ‘โรคหลอดเลือดในสมองแตกฉับพลัน’

(ท่านผู้ที่ดูแลพ่อแม่ควรรู้ไว้) จำให้แม่น ๆ เอาไว้ช่วยชีวิตคนได้บุญ

แพทย์อาวุโสแผนโบราณของไต้หวัน ได้ถ่ายทอดวิธีการช่วยชีวิตจาก โรคหลอดเลือดในสมองแตกฉับพลัน ซึ่งลูกกตัญญูหลายท่านเสียใจว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสได้อ่านเรื่องนี้..

เมื่อเส้นเลือดฝอยที่อยู่ในสมองแตก เลือดจะไหลซึมออกมาอย่างช้า ๆ เมื่อพบกับสถานการณ์อย่างนี้ ขอให้ตั้งสติ ไม่ว่าช่วงจังหวะที่เกิดเหตุนั้นอยู่ ณ ที่ใด (ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องนอน หรือ ห้องนั่งเล่น) ขออย่าได้มีการเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยเป็นอันขาด เพราะถ้ามีการเคลื่อนย้าย จะเป็นตัวช่วยเร่งรอยแตกของเส้นเลือดฝอยให้มากขึ้น

สิ่งแรกที่ควรทำคือ ประคองผู้ป่วยให้เอนนั่งตัวตรงมั่นคงก่อน ระวังอย่าให้ล้มเอนลงอีก

เคล็ดลับการปฐมพยาบาล (ปล่อยเลือด)..

ถ้าหากในบ้านมีเข็มฉีดยาอยู่ จะเป็นการดีที่สุด หากไม่มี ใช้เข็มเย็บผ้าก็ได้ แทงเข้าไปที่ปลายนิ้วมือ ทั้ง 10 ของผู้ป่วย (ไม่กำหนดจุดที่แน่นอน แค่ให้ห่างจากปลายเล็บนิ้วพอประมาณ)

แทงให้มีเลือดไหลออกมา (ถ้าเลือดไม่ไหลออกมา ให้ใช้มือช่วยบีบได้) นิ้วละ 1 หยด ประมาณไม่กี่นาทีต่อมา ผู้ป่วยจะฟื้นตื่นขึ้นมา

ถ้ามีอาการปากเบี้ยว ให้ดึงหูทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วยจนหูแดง ให้แทงที่ด้านล่างของใบหูทั้งสองข้าง ๆ ละ 2 ครั้ง (ติ่งหู) จนมีเลือดไหลออกมา เพียงไม่กี่นาทีปากก็จะกลับฟื้นคืนสภาพเดิมได้

และให้รอจนกระทั่งผู้ป่วยฟื้นคืนสภาพกลับมาเป็นปกติ โดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ผิดปกติแล้ว จึงค่อยนำส่งต่อไปหาแพทย์

ถ้าหากรีบร้อนอุ้มขี้นรถพยาบาลไปหาแพทย์ทันที เกรงว่าในระหว่างทางจะเกิดอาการช็อคขึ้นมาก่อนไปถึงโรงพยาบาล เส้นเลือดฝอยในสมองของเขาอาจแตกเพิ่มจนเกือบหมด ในกรณีที่โชคดีไม่ถึงตาย ก็อาจกลายเป็นอัมพฤกษ์ หรือ อัมพาตก็ได้

ถ้าหากว่า พวกเราสามารถจดจำวิธีการนี้ จะสามารถช่วยเหลือได้ทันที ในช่วงระยะเวลาที่สั้น ๆ นี้ สามารถทำให้ฟื้นคืนจากความตายได้ อีกทั้งยังช่วยให้รักษาที่โรงพยาบาลหลังจากนั้น จะมีความสมบูรณ์หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

หากคิดว่าเป็นประโยชน์ให้ช่วยส่งต่อ คุณพ่อแม่ของพวกเราอยู่ในวัยสุ่มเสี่ยง อาจได้ใช้ประโยชน์นะครับ”

ข้อความที่ถูกต้องในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ก่อนออื่น ผมขอขอบคุณสำหรับเพื่อนๆที่แนะนำให้ผมช่วยทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่อผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติสงสัยโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต สืบเนื่องจากข้อความที่อ้างอิงข้างบนนี้ ผมได้พยายามสอบถามจากแพทย์หลากหลายสาขา ทั้งแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนจีนเท่าที่รู้จัก รวมทั้งค้นคว้าเพิ่มเติมในหนังสือวิชาการทางการแพทย์ พบว่าไม่มีความจริงแต่ประการใด

ผมจึงให้ข้อสังเกตและแนวทางการช่วยเหลือที่ถูกต้องตามหลักวิชาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ดังนี้

เมื่อมีอาการผิดปกติของอาการทางระบบประสาท คือ ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก พูดไม่ชัด ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ อาการต่างๆ เหล่านี้ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีสาเหตุจากหลอดเลือดในสมองแตกหรือสมองขาดเลือดมาเลี้ยงจากหลอดเลือดตีบหรือตัน ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเท่านั้นจึงสามารถบอกได้ว่า เป็นหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบ ตัน ดังนั้นการช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือ

  1. ต้องรีบโทรศัพท์ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลที่มีระบบบริการครบวงจร หรือโทร 1669 เบอร์โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศไทย ของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) เพื่อให้รถพยาบาลมารับทันที เพื่อที่แพทย์จะได้ให้การตรวจรักษาได้ถูกต้องต่อไป
  2. กรณีท่านพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง ให้พาไปที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลเท่านั้น ห้ามพาไปที่แผนกอื่นๆ โดยเด็ดขาด เพราะขั้นตอนการรักษาที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินจะมีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน รวดเร็วเป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ คือ แพทย์จะให้การตรวจรักษาทันทีถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาอันรวดเร็ว ช้าที่สุดไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมง
  3. แพทย์จะสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยและถ้าสงสัยโรคหลอดเลือดสมอง ผมใช้คำว่าสงสัยนะครับ แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและตรวจเลือดทันที ขั้นตอนนี้จะไม่เกิน 30 นาที เมื่อแพทย์ทราบผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ก็จะให้การรักษาตามแนวทางที่เป็นมาตรฐาน
  4. ถ้าพบว่ามีปัญหาหลอดเลือดสมองแตก แพทย์ก็จะทำการปรึกษาแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทว่า ต้องผ่าตัดหรือไม่ ถ้าต้องผ่าตัดก็จะทำการส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นที่สามารถผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้
  5. ถ้าไม่พบเลือดออก ก็จะพิจารณาว่าเหมาะสมในการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่ แพทย์ก็จะพูดคุยกับผู้ป่วยหรือญาติ เพื่อทำการตัดสินใจเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดต่อไป

ผมขอทำความเข้าใจอีกครั้งว่า การช่วยชีวิตผู้ที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่ถูกต้องคือ “ รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด” จำไว้ว่า “ ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต”