ความน่ากลัวของบลูไลท์ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ความน่ากลัวของบลูไลท์

แสงที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันนี้แบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 7 สี (สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสดและแดง) แสงสีน้ำเงินเป็นสีที่ให้ความสว่างมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำให้ดวงตาเป็นอันตรายได้มากที่สุดด้วย (ทุกสีสามารถทำอันตรายต่อดวงตาได้ทั้งหมด)

แสงสีน้ำเงินหรือแสงสีฟ้า (Blue light) คือแสงที่มองเห็นได้และมีพลังงานสูง (High-energy visible light = HEV light) ครอบคลุมช่วงความยาวคลื่น 400-500 นาโนเมต เป็นหนึ่งในแสงที่สามารถทะลุทะลวงได้ถึงจอประสาทตา มีพลังทำลายกระจกตาหรือจอประสาทตาได้มากกว่าแสงสีอื่น โดย HEV มีความเกี่ยวพันกับโรคจอประสาทตาเสื่อม (Aged-related macular degeneration : AMD)

นอกจากนี้ แสงสีน้ำเงินยังมีส่วนสัมพันธ์กับการสร้างเมลาโทนินที่ช่วยให้ร่างกายนอนหลับ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าแสงสีน้ำเงินที่ช่วงความยาวคลื่น 415-445 นาโนเมต สามารถขัดขวางการสร้างเมลาโทนินได้

แสงสีน้ำเงินมีอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้ง หลอด LED (Light Emitting Diode หรือ ไดโอดเปล่งแสง) คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โทรทัศน์ ฯลฯ ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ให้แสงสีน้ำเงินในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เล่นสมาร์ทโฟนในที่มืด ปิดไฟดูโทรทัศน์ รวมถึงอาชีพที่ต้องใช้แสง เช่น ช่างเชื่อมเหล็ก หรือผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ก็ล้วนมีปัจจัยเสี่ยงภัยจากแสงสีน้ำเงินทั้งสิ้น

The U.S. National Library of Medicine’s PubMed ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาว่า

  • แสงสีน้ำเงินเป็นมลภาวะที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogenic pollution) เพราะจากการทดลองในหนูพบว่าแสงสีน้ำเงินมีส่วนสัมพันธ์กับอัตราการเป็นมะเร็งที่สูง
  • การขาดเมลาโทนินมีส่วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมากที่สูง
  • การได้รับแสงสีน้ำเงินมีผลต่ออารมณ์
  • การได้รับแสงที่มากอาจเป็นสาเหตุให้จอตาเสีย (Retinal toxicity)
  • แสงสีน้ำเงินเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นต้อกระจก (Cataracts) และจอประสาทตาเสื่อม (Macular degeneration)

สำหรับวิธีป้องกัน และรักษาตัวเองแบบง่ายๆ ได้แก่

  • นอนหลับให้ได้ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • ดื่มน้ำเปล่าให้มาก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อดวงตา อาทิ ส้ม ฝรั่ง ฟักทอง มะละกอ
  • ควรเปิดไฟดูทีวี อ่านหนังสือ ใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในที่ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ
  • หากต้องพบกับแสงหรือใช้งานอุปกรณ์ที่มีแสงเป็นเวลานาน สามารถพักสายตาด้วยการหลับตา หรือกะพริบตา และมองไปที่พื้นที่สีเขียวซักครู่
  • ตรวจเช็คดวงตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

แหล่งข้อมูล

1. What is the blue light from our screens really doing to our eyes? https://gigaom.com/2014/09/01/what-is-the-blue-light-from-our-screens-really-doing-to-our-eyes/ [2014, October 22].
2. Smartphones Ruin More Than Your Sleep — They May Also Be Destroying Your Vision. http://www.businessinsider.com/smartphones-effect-on-vision-and-health-2014-9 [2014, October 22].