ความน่ากลัวของบลูไลท์ (ตอนที่ 1)

ความน่ากลัวของบลูไลท์

รศ. นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะเลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตามากกว่าร้อยละ 80 สาเหตุมาจากการได้รับรังสียูวี (UV) 400, ยูวีเอ (UVA) 1 และแสงสีฟ้าจากการจ้องมองคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เป็นเวลานานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยมีทั้งผู้สูงอายุ วัยทำงาน และเด็ก โดยพฤติกรรมที่พบส่วนใหญ่ คือ ช่วงเวลาก่อนนอนจะหยิบสมาร์ทโฟนมาเล่นในขณะที่ปิดไฟแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่เร่งให้มีอาการทางสายตาเพิ่มขึ้น อันตรายจากแสงยูวี แสงสีฟ้าที่อยู่ในจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต จะทำลายดวงตาเมื่อจ้องเป็นเวลานาน เนื่องจากการกะพริบตาจะน้อยลง

ปกติคนเราจะกะพริบตาประมาณ 20 ครั้งต่อนาที เพื่อให้ตาได้รับความชุ่มชื้น การเพ่งมองเป็นเวลานานจะทำให้ตาแห้ง แสบตา ส่งผลให้การมองเห็นเริ่มผิดปกติ เห็นภาพซ้อน ภาพไม่ชัด พร่ามัว ปวดเบ้าตา กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม และเป็นส่วนที่ทำให้เกิดต้อเนื้อ ต้อลม และจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งพบมากขึ้นเรื่อย ๆ และรักษาได้ยากจนอาจส่งผลทำให้ตาบอดได้

ส่วนนายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญโรคตา ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การที่สมัยนี้คนใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น ทั้งเล่นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ไอแพด ดูโทรทัศน์ ทำให้เกิดโรค "เทคโนโลยีซินโดรม" ตามมา ซึ่งหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นก็คือ "โรคต้อหิน" อันมีสาเหตุมาจากความเครียดจนทำให้ความดันลูกตาขึ้นได้

เพราะการใช้เทคโนโลยีมากๆ นานๆ จะทำให้สายตาล้า มีอาการตาแห้ง จึงเกิดความเครียดขึ้นได้ และไปทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของต้อหิน การที่สายตาล้าก็เกิดจากการเพ่งภาพหรือตัวอักษรหน้าจอที่มีขนาดเล็กมากเกิน ไป

ยิ่งเราเพ่งก็จะยิ่งทำให้ม่านตาขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมปิดไฟดูทีวี เล่นสมาร์ทโฟน ไอแพด ส่องไฟฉายอ่านหนังสือ คนกลุ่มนี้ต้องใช้สายตากำกับตลอดเวลา ทำให้กล้ามเนื้อตาล้า ตาแห้ง เครียดตลอดเวลา ยิ่งรายละเอียดมากตาก็ยิ่งทำงานหนัก จึงเสี่ยงต่อโรคเทคโนโลยีซินโดรม

ทั้งนี้ หากเป็นแล้ว จะมีผลให้ลานสายตาแคบลงเรื่อย ๆ หากไม่รักษา ปล่อยทิ้งไว้ จะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด แม้จะรักษาความดันได้เป็นปกติ แต่สายตาจะไม่กลับคืนเป็นปกติ หรือเรียกว่าสูญเสียอย่างถาวร หากบอดแล้วบอดเลย หรือตาพร่ามัวตลอดชีวิต

นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ยังกล่าวถึง อาการเตือนของความเครียดที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเพ่งมากเกินไปว่า เริ่มจากรู้สึกแสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล กะพริบตาบ่อย ปวดเมื่อยล้าที่กระบอกตา สายตาพร่า มองเห็นไม่ชัด บางคนอาจปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย

แหล่งข้อมูล

1. เตือนนักแชท เล่นมือถือตอนปิดไฟ อันตรายถึงตาบอด http://health.kapook.com/view100532.html [2014, October 21].

2. ดูทีวี-เล่นมือถือในที่มืด ระวังต้อหินคุกคามจนตาบอด http://health.kapook.com/view89726.html [2014, October 21].