ควันธูป ภัยที่คิดไม่ถึง (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Dioxide) เป็นก๊าซไม่มีสี กลิ่นฉุนแสบจมูก เหมือนกลิ่นไม้ขีดไฟ เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถันเจือปน เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน

ส่วนใหญ่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศเกิดจากการเผาถ่านหินและน้ำมันในโรงงานผลิตไฟฟ้า ส่วนแหล่งอื่นมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินหรือน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตซีเมนต์ โรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตกระดาษ และโรงงานถลุงแร่ทองแดง นอกจากนี้ยังมาจากการปล่อยก๊าซจากรถไฟ เรือใหญ่ เครื่องดีเซล และภูเขาไฟระเบิด

ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใช้เป็นตัวถนอมอาหาร (Food preservative) เช่นผักและผลไม้ ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ใช้ฟอกสีแป้งมันสำปะหลัง ผลไม้ เมล็ดธัญพืช เยื่อไม้ ขนสัตว์ (Wool) เส้นใยสิ่งทอ (Textile fibers) เครื่องสาน กาว และสารเคมีอื่นๆ

ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำให้หายใจลำบากโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปอด หากได้รับก๊าซนี้เป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคหลอดลมอับเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) โรคถุงลมโป่งพองในปอด (Emphysema) นอกจากนี้ยังทำให้โรคหัวใจที่เป็นอยู่แย่ลง และทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ในผู้ชายและผู้หญิงลดลง

การหายใจเอาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าจะทำให้เกิดการระคายเคืองในจมูก คอ ปอด และไอ หายใจลำบาก (Shortness of breath) ดยในระยะสั้นจะเป็นสาเหตุให้ปวดท้อง ประจำเดือนผิดปกติ น้ำตาคลอ (Watery eyes) สูญเสียการได้กลิ่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นไข้ ชักกระตุก (Convulsions) และเวียนศีรษะ (Dizziness)

สำหรับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide) เป็นก๊าซที่เกิดจากการเผ่าเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ หรือดีเซล ในอุณหภูมิที่สูง เราสามารถพบก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ได้จากการเผาเชื้อเพลิง ควันท่อไอเสียรถ โรงงานผลิตไฟฟ้า หรือจากการเผาไหม้ของน้ำมันก๊าด (Kerosene) เครื่องทำความร้อนที่ใช้แก๊ส และเตาแก๊ส

ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สามารถทำให้เกิดผลต่อปอด กล่าวคือ ทำให้ทางเดินการหายใจอักเสบ ไอและหายใจลำบาก (Dyspnea) มีเสียงฟืดฟาดหรือฮืดฮาด (Wheezing) ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ระคายเคืองในตา จมูก หรือคอ ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก สำลัก (Choking) และเหงื่อท่วมตัว (Diaphoresis)

นพ.โสภณ กล่าวแนะนำในตอนท้ายว่า การจุดธูปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดความสุขทางจิตใจ แต่เพื่อให้ห่างไกลจากโรคและภัยสุขภาพ และดูแลสิ่งแวดล้อม ควรปฏิบัติดังนี้

การจุดธูปในบ้าน ที่ทำงาน ศาสนสถาน ควรหลีกเลี่ยงการจุดธูปในบริเวณอากาศไม่ถ่ายเท หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องแอร์ ห้องที่ไม่มีประตู หน้าต่าง กระถางธูปควรตั้งไว้นอกศาลาโบสถ์ หรือศาลเจ้า ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวกกว่า นอกจากนี้ควรใช้ธูปสั้น ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีควรดับหรือเก็บธูปให้เร็วขึ้น และ ผู้ที่ปฏิบัติงานในศาสนสถาน ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมเป็นเวลานานต่อเนื่อง ใช้ถุงมือจับ และควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา ให้บ่อยขึ้น ทั้งควรไปตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข้อมูล:

  1. พิษร้ายควันธูป! จุดไหว้ประจำพบสารก่อมะเร็งมากถึง 63 เท่า http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9570000011231 [2014, February 1].
  2. Sulfur Dioxide http://toxtown.nlm.nih.gov/text_version/chemicals.php?id=29 [2014, February 1].
  3. Nitrogen Dioxide http://www.lung.org/healthy-air/outdoor/resources/nitrogen-dioxide.html [2014, February 1].