คลื่นความถี่คลายปวด (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

คลื่นความถี่คลายปวด

ก่อนการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะต้องทำการทดสอบถึงเส้นประสาทที่ทำให้เกิดอาการปวดว่าเป็นเส้นไหน ด้วยการฉีดยาชา (Numbing medication) ไปยังจุดปวดที่จะทำการรักษา หากมีความรู้สึกปวดน้อยลง การรักษาด้วยวิธีนี้ก็อาจจะช่วยได้

โดยก่อนการรักษาจริง ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวดังนี้

  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามกินอาหาร 6 ชั่วโมง และดื่มน้ำ 2 ชั่วโมง ก่อนทำการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งหรือสูบบุหรี่ในวันที่ทำการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับกลิ่นตัว (Deodorants) โลชั่น หรือ น้ำหอม ในวันที่ทำการรักษา
  • หากเป็นโรคเบาหวานและต้องใช้อินซูลิน ให้นำยามาด้วย
  • หาคนพากลับบ้านหลังจากรักษาเสร็จเรียบร้อย

ระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะต้องนอนบนเตียงเอ็กซเรย์ แพทย์จะใช้เครื่องเอ็กซเรย์พิเศษ (Fluoroscopy) เพื่อช่วยหาตำแหน่งที่จะสอดเข็มให้ถูกจุดและมีผลต่อเส้นประสาทที่มีปัญหา มีการให้ยาทางเส้นเลือด (Intravenous) และฉีดยาชาก่อนการสอดเข็มเพื่อใช้คลื่นความร้อนจึ้เส้นประสาทให้หยุดส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมอง โดยระหว่างนี้แพทย์มักให้ผู้ป่วยคงความรู้สึกตัวระหว่างการรักษาเพื่อสังเกตุปฏิกริยาตอบโต้

หลังการรักษา แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักสักระยะหนึ่งจึงกลับบ้านได้ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึก

  • ปวดบริเวณที่แทงเข็มเข้าไป แต่อาการปวดจะค่อยๆ หายไป
  • ขาชาอีก 2-3 ชั่วโมง เพราะผลจากการใช้ยาชาระหว่างที่ทำการรักษา
  • ปวดหลังเล็กน้อยหลังจากที่ยาชาหมดฤทธิ์ ซึ่งช่วยได้ด้วยการกินยาแก้ปวดอีก 2-3 สัปดาห์

ทั้งนี้ เมื่อกลับบ้านควรดูแลตน ดังนี้

  • ใช้ความเย็นประคบตรงจุดที่แทงเข็มครั้งละประมาณ 20 นาที เป็นเวลา 3-4 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการประคบร้อน
  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำอาบเป็นเวลา 2 วัน อาจใช้น้ำอุ่นจากฝักบัวอาบภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังการรักษา
  • ห้ามทำกิจกรรมหนักหลังการรักษา 24 ชั่วโมง

แต่ถ้ารู้สึกว่ามีอาการบวมแดงหรือขาไม่มีแรงมากขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ อัตราความสำเร็จในการทำ Radiofrequency denervation จะต่างกันไป และใช้ได้ดีกับคนบางคน (ไม่เหมาะกับผู้มีปัญหาเลือดไหลไม่หยุดหรือกำลังติดเชื้ออยู่) โดยขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถหาเส้นประสาทที่ก่อให้เกิดปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่ หากทำได้ถูกจุด อาการปวดก็จะลดลงได้นานประมาณ 6 เดือน – 2 ปี และเมื่อมีเส้นประสาทงอกขึ้นใหม่ อาจจะแสดงอาการปวดหรือไม่ปวดก็ได้ ซึ่งถ้าหากมีอาการปวดอีกก็สามารถทำการรักษาซ้ำ (Repeated treatments) ได้อีก และมักจะได้ผลเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี มีโอกาสเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยบางรายจะไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยวิธีนี้ และมีผู้ป่วยอีกร้อยละ 5 ที่รู้สึกว่ามีอาการแย่ลงกว่าเดิม

แหล่งข้อมูล

1. Radiofrequency neurotomy. http://www.webmd.com/heart-disease/heart-failure/tc/coenzyme-q10-topic-overview 2016, June 3].

2. Radiofrequency Facet Denervationhttp://www.ohsu.edu/xd/health/services/spine/getting-treatment/conditions-treatments/radiofrequencyfacetdenervation.cfm [2016, June 3].

3. Radiofrequency neurotomy for facet joint pain. http://www.uhb.nhs.uk/Downloads/pdf/PiRadiofrequencyNeurotomyFacetJoint.pdf [2016, June 3].

4. Radiofrequency Ablation for Arthritis Pain. http://www.webmd.com/pain-management/radiofrequency-ablation [2016, June 3].