คลีมาสทีน (Clemastine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลีมาสทีน (Clemastine หรือ Clemastine fumarate) เป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้แพ้/ยาต้านสารฮีสตามีน(Antihistamine) และยังออกฤทธิ์เป็นแอนติโคลิเนอร์จิก(Anticholinergics)อีกด้วย ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษา โรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้(Allergic rhinitis) อาการผื่นคันตามผิวหนัง ลมพิษ รวมถึงอาการแพ้ต่างๆของร่างกาย ยาคลีมาสทีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ตัวยานี้สามารถดูดซึมผ่านทางระบบเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 39.2% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยาคลีมาสทีน และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 21.3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาคลีมาสทีนมีฤทธิ์ทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้ เกิดอาการง่วง หรือวิงเวียนได้เช่นเดียวกับยาต้านฮีสตามีนหลายๆตัว ดังนั้นจึงมีข้อห้ามผู้ป่วยรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลทำให้อาการง่วงและวิงเวียนเกิดรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

นอกจากนี้ ต้องระวังการใช้ยาคลีมาสทีนกับ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดลมอักเสบ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือ มีสภาพทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต และผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด เพราะการใช้ยาคลีมาสทีนในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว อาจทำให้อาการป่วยดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้น

ทั่วไป แพทย์มักไม่ใช้ยาคลีมาสทีนกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี สำหรับผู้ใหญ่ก็ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน

ยังมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับยาคลีมาสทีนดังนี้ เช่น

  • ยาคลีมาสทีนเป็นยารักษาอาการแพ้ก็จริง แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการแพ้ยาชนิดนี้เสียเอง กรณีนี้ห้ามใช้ยาคลีมาสทีนกับกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวเด็ดขาด
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Sodium oxybate ด้วยจะทำให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาคลีมาสทีนมากยิ่งขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ซึม ความดันโลหิตต่ำ
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่ม MAOIs เช่นยา Phenelzine จำเป็นต้องหยุดใช้ยา MAOIs เป็นเวลา 14 วันเป็นอย่างต่ำ จึงจะใช้ยาคลีมาสทีนได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้เพราะการใช้ยาร่วมกันจะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง ท้องผูก เป็นลมแดดได้ง่ายด้วยมีภาวะเหงื่อออกน้อยลง ใบหน้าแดง และมีอาการปัสสาวะขัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และในทารก ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อการใช้ยาหลายประเภท ซึ่งรวมถึงยาคลีมาสทีนด้วย
  • ห้ามรับประทานยาคลีมาสทีนเกินจากคำสั่งแพทย์ *การได้รับยานี้เกินขนาดสามารถทำให้เกิดอาการ โคม่า ประสาทหลอน สูญเสียสติสัมปชัญญะ เกิดอาการชัก กล้ามเนื้อกระตุก ตัวสั่น และอ่อนเพลีย หากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัว ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ทั้งนี้ อาจกล่าวโดยรวมว่า การใช้ยาคลีมาสทีนเพื่อแก้ไขและรักษาอาการแพ้เป็นการบรรเทาเบื้องต้น และมีระยะเวลาการใช้ยาเพียงสั้นๆเท่านั้น

อนึ่ง ในตลาดยาแผนปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาคลีมาสทีน ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Tavist”

คลีมาสทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คลีมาสทีน

ยาคลีมาสทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
  • บำบัดอาการผื่นคันทางผิวหนัง รวมถึงลมพิษ
  • บรรเทาอาการแพ้ต่างๆ

คลีมาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคลีมาสทีน มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ในร่างกายชนิดที่เรียกว่า H1-receptors(Histamine 1 receptor)ที่ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร เซลล์ของหลอดเลือด และเซลล์ที่ระบบทางเดินหายใจ โดยช่วยระงับ/ปิดกั้นการทำงานของสารต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ ด้วยกลไกที่ซับซ้อนเหล่านี้ จึงทำให้เกิดที่มาของสรรพคุณ

คลีมาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลีมาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Clemastine 1.34 และ 2.68 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Clemastine 0.67 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

คลีมาสทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคลีมาสทีน มีขนาดรับประทานสำหรับบรรเทาอาการ เยื่อจมูกอักเสบ ผื่นคัน ลมพิษ รวมถึงอาการแพ้ต่างๆ เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 1.34 มิลลิกรัม ก่อนหรือหลังอาหาร วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น โดยแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2.68 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: การพิจารณาใช้ยาคลีมาสทีนกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

*อนึ่ง: ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคลีมาสทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคจิตประสาท/โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาคลีมาสทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การลืมรับประทานยาคลีมาสทีน มักไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมา ผู้ป่วยสามารถรับประทานยานี้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

คลีมาสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลีมาสทีนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น กดประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ การบังคับร่างกายทำได้ลำบาก แต่การหยุดใช้ยานี้จะทำให้อาการดังกล่าวกลับมาเป็นปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องผูก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า มองภาพไม่ชัดเจน ตาแห้ง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด การไหลของปัสสาวะช้าลง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น การใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะกด ไขกระดูกและมีภาวะเลือดจางตามมา
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทำให้มีการขับเมือก /สารคัดหลั่งออกมาในหลอดลมมากขึ้น หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก

มีข้อควรระวังการใช้คลีมาสทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลีมาสทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือตัวยาตกตะกอนไม่ละลายกรณีเป็นยาน้ำ
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการไอเรื้อรัง เช่น การไอจากการสูบบุหรี่ หรือจากโรคหืด
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน ด้วยยาคลีมาสทีนอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอาการลมแดดได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด ผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ที่รุนแรง
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคลีมาสทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คลีมาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลีมาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาคลีมาสทีนร่วมกับยา Propoxyphene เพราะจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ลำบาก
  • ห้ามใช้ยาคลีมาสทีนร่วมกับยากลุ่ม Potassium ชนิดรับประทาน เช่น Potassium chloride ด้วยจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาคลีมาสทีนร่วมกับยา Topiramate , Zonisamide, ด้วยจะทำให้สภาพร่างกายของผู้ป่วยมีการหลั่งเหงื่อน้อยลง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลมแดดได้มากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคลีมาสทีนร่วมกับยา Methscopolamine ด้วยการใช้ยาร่วมกั้น จะนำมาซึ่งอาการ ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง เกิดลมแดดได้ง่าย เหงื่อออกน้อยลง ใบหน้าแดง ปัสสาวะขัด เป็นตะคริวที่หน้าท้อง ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ มีความจำแย่ลง

ควรเก็บรักษาคลีมาสทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาคลีมาสทีนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

คลีมาสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลีมาสทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tavist (ทาวิสท์)Novartis Pharmaceuticals

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Dayhist, Clemastin, Clemanil

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/drug-interactions/clemastine-index.html?filter=2[2017,Sept2]
  2. https://www.drugs.com/dosage/clemastine.html[2017,Sept2]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/clemastine-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Sept2]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/clemastine/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept2]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Clemastine[2017,Sept2]