คลั่งผอมเสี่ยงตาย (ตอนที่ 5)

คลั่งผอมเสี่ยงตาย-5

โรคคลั่งผอมสามารถก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้มากมาย ที่ร้ายแรงที่สุด คือ การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ (Arrhythmias) หรือความไม่สมดุลของเกลือแร่ (Electrolytes) เช่น โซเดียม โปตัสเซียม และแคลเซียม นอกจากนี้โรคคลั่งผอมอาจทำให้เกิด

  • ภาวะโลหิตจาง (Anemia)
  • ปัญหาหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจยาว (Mitral valve prolapse) หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย
  • สูญเสียมวลกระดูก เพิ่มความเสี่ยงในกระดูกหัก
  • ประจำเดือนขาดในเพศหญิง
  • ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในเพศชายลดลง
  • มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเฟ้อ และคลื่นไส้
  • เกลือแร่ไม่สมดุล เช่น โปตัสเซียม โซเดียม และคลอไรด์ต่ำ
  • มีปัญหาเรื่องไต
  • มีปัญหาเรื่องประสาทและสมอง เช่น อาการชัก (Seizure) ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี
  • ฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ อาการแทรกซ้อนของโรคคลั่งผอมยังอาจร่วมถึง

  • ซึมเศร้าหดหู่ วิตกกังวล และมีอารมณ์ที่ผิดปกติ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนไป
  • เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorders = OCD)
  • มีการดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคลั่งผอมหรือไม่นั้น ต้องทำการทดสอบด้วยหลายวิธีเพื่อตัดข้อสงสัยอื่นออกไป รวมถึงการตรวจอาการแทรกซ้อนที่อาจเกี่ยวข้องด้วย เช่น

  • การตรวจสภาพร่างกาย (Physical exam) – วัดส่วนสูงและน้ำหนัก วัดดัชนีมวลกาย (Body mass index = BMI) วัดสัญญาณชีพ (Vital signs) เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิ ตรวจสอบดูปัญหาผิวหนังและเล็บ ฟังเสียงหัวใจและปอด ตรวจช่องท้อง
  • การทดสอบในห้องแล็ป (Lab tests) เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC) การตรวจเลือดเพื่อดูค่าของเกลือแร่และโปรตีน การตรวจการทำงานของตับ ไต และไทรอยด์ การตรวจปัสสาวะ
  • การประเมินทางจิตวิทยา (Psychological evaluation) ด้วยการถามถึงความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมการกิน และการทำแบบสอบถาม
  • การทดสอบอื่นๆ เช่น การเอ็กซเรย์เพื่อดูความหนาแน่นของกระดูก การตรวจปอดและหัวใจ