คลั่งผอมเสี่ยงตาย (ตอนที่ 2)

คลั่งผอมเสี่ยงตาย-2

พญ.อัมพร กล่าวแนะนำว่า ต้องมีการปรับพฤติกรรมการกินของเด็กๆ ให้เหมาะสม ซึ่งการบังคับ การห้าม การขู่อย่างเดียวไม่ได้ผล หรืออาจจะได้ผลแต่ก็จะทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา

เพราะฉะนั้นควรสร้างกระบวนการคิดของเด็กให้มีวินัย ให้รู้ว่าขนมหรืออาหารประเภทนั้นๆ อร่อย แต่กินได้มากแค่ไหน ทำให้เด็กรู้จักควบคุมความอยาก ซึ่งจะทำให้มีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องอย่างยั่งยืนมากกว่า

ส่วนกรณีที่เด็กมีภาวะน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักจะต้องมีความจริงจัง มีการตั้งเป้าหมาย ลดสิ่งเร้า กำหนดวิธีการเดินไปสู่เป้าหมายด้วย

โรคคลั่งผอม (Anorexia nervosa) เป็นความผิดปกติของการกิน แสดงให้เห็นด้วยการมีน้ำหนักตัวที่น้อยผิดปกติ กลัวการอ้วนอย่างมาก บางคนจำกัดอาหารการกินอย่างมาก หรืออาจควบคุมน้ำหนักด้วยการล้วงคอให้อาเจียน กินยาถ่าย หรือออกกำลังกายอย่างหนัก โดยเราสามารถแยกพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ 2 แบบ คือ

  1. แบบจำกัด (Restricting Type) หมายถึง พวกที่มีการกินอาหารน้อย อดอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูง พวกนี้มักจะมีการออกกำลังกายหนัก
  2. แบบถ่ายท้อง (Purging Type) หมายถึง พวกที่กินอาหารแล้วใช้วิธีทำให้ตัวเองอาเจียน ใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ หรือสวนอุจจาระ

โรคคลั่งผอมไม่ได้มีปัญหาเฉพาะเรื่องการกิน การอดอาหาร แต่ยังมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ในเรื่องการรับรู้น้ำหนักร่างกายที่ไม่เป็นจริง (Unrealistic perception) มีความเข้าใจเรื่องน้ำหนักตัวที่บิดเบือนไป มีความเข้าใจว่าตัวเองอ้วนอยู่ตลอด (ทั้งที่ความจริงผอม) และต้องการให้มีน้ำหนักตัวน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนใหญ่โรคคลั่งผมมักเกิดในวัยรุ่นสาวและผู้หญิง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเริ่มพบมากขึ้นในวัยรุ่นชายและผู้ชาย โดยเฉลี่ยแล้วเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 16-17 ปี และผู้ที่เป็นโรคนี้มักพูดปดเกี่ยวกับเรื่องการกิน เช่น ไม่ยอมบอกว่ากินอะไร หรือโกหกว่าได้กินไปแล้ว

นอกจากนี้ คนที่เป็นโรคคลั่งผอมมักมีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self esteem ) และขาดความมั่นใจในตัวเอง อาจจะปลีกตัวออกห่างจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการเรียนหรือการงาน

โดยทั่วไป อาการทางด้านร่างกายของโรคคลั่งผอม ได้แก่

  • น้ำหนักตัวน้อยมาก
  • รูปร่างผอมบาง
  • เซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย
  • นอนไม่หลับ
  • เวียนศีรษะ (Dizziness) หรือหน้ามืดเป็นลม (Fainting)
  • นิ้วมือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น (Bluish discoloration)

แหล่งข้อมูล:

  1. พบเด็กไทยเป็น"โรคคลั่งผอม"สถิติล่าสุด1ใน20. http://www.thaipost.net/?q=พบเด็กไทยเป็นโรคคลั่งผอมสถิติล่าสุด1ใน20 [2017, May 23].
  2. Anorexia nervosa. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/anorexia/home/ovc-20179508 [2017, May 23].
  3. Anorexia nervosa. http://www.nhs.uk/Conditions/Anorexia-nervosa/Pages/Introduction.aspx [2017, May 23].
  4. Anorexia Nervosa. https://www.helpguide.org/articles/eating-disorders/anorexia-nervosa.htm [2017, May 23].