คลอไดอะซิปอกไซด์ (Chlordiazepoxide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง
  • ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
  • ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
  • ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
  • โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)/
  • โรคจิต (Psychosis)
  • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)/
  • โยานอนหลับ (Sleeping pill)/
  • ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)/
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)/
  • บทนำ

    ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ (Chlordiazepoxide) เป็นยากลุ่มเบนโซไดอะซิปีน (Benzodiaze pine) ชนิดสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถูกนำมารักษาอาการวิตกกังวล ภาวะนอนไม่หลับ ตลอดจนรักษาการติดสุราเรื้อรัง ได้มีการค้นพบยานี้โดยบังเอิญเมื่อปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) ในเวลาต่อมาก็เริ่มใช้ในวงการแพทย์มากขึ้น โดยยาชื่อการค้าที่รู้จักกันในต่างประเทศคือ “Librium”

    รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยารับประทานและยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยจัด เป็นยาที่มีระยะเวลาของการออกฤทธิ์ได้นานประมาณ 5 - 30 ชั่วโมง การดูดซึมของยานี้จากทางเดินอาหารค่อนข้างดี หลังรับประทานยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในระยะเวลาประมาณ 1 - 2 ชั่ว โมง ตัวยาส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 96% จาก นั้นยาจะถูกลำเลียงส่งไปยังตับเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีอย่างต่อเนื่อง

    ยาคลอไดอะซิปอกไซด์สามารถซึมผ่านรกและน้ำนมของมารดาได้ จึงมีข้อจำกัดของการใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยานี้สามารถกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

    สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติ แต่ด้วยเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อการทำงานที่สมอง จึงกำหนดให้ยาคลอไดอะซิปอกไซด์เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ดังนั้นก่อนการใช้ยากับผู้ป่วยจึงต้องมีใบสั่งจากแพทย์ ผู้รักษาทุกครั้ง

    คลอไดอะซิปอกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

    คลอไดอะซิปอกไซด์

    ยาคลอไดอะซิปอกไซด์มีสรรพคุณดังนี้เช่น

    • รักษาอาการวิตกกังวล
    • ใช้เป็นยานอนหลับ
    • รักษาอาการติดสุราเรื้อรัง
    • ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ
    • ใช้เป็นยาร่วมก่อนวางยาสลบกับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

    คลอไดอะซิปอกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

    กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอไดอะซิปอกไซด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งผ่านของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า GABA (Gamma-aminobutyric acid) ในส่วนต่างๆของสมอง จากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของสมดุลเคมีตามมา นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อลาย และแสดงฤทธิ์ต้านอาการลมชักอีกด้วย จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

    คลอไดอะซิปอกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

    ยาคลอไดอะซิปอกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

    • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
    • ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Chlordiazepoxide HCl 5 มิลลิกรัม + Clidinium Bromide (ยาลดกรด) 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
    • ยาแคปซูลขนาด 5, 10, 25 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล

    คลอไดอะซิปอกไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

    1. สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล :
      • ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 30 มิลลิกรัม/วัน หากมีอาการรุนแรงแพทย์สามารถปรับขนาดรับ ประทานเป็น 100 มิลลิกรัม/วัน
      • ผู้สูงอายุและเด็ก: แพทย์จะเป็นผู้ปรับ/ลดขนาดรับประทานตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละกรณีไป
    2. ใช้เป็นยานอนหลับ:
      • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 30 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
      • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางการศึกษาที่แน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

    *อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

    *****หมายเหตุ:

    • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

    เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

    เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอไดอะซิปอกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้

    • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
    • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอไดอะซิปอกไซด์อาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
    • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

    หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

    หากลืมรับประทานยาคลอไดอะซิปอกไซด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

    คลอไดอะซิปอกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

    ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดภาวะติดยา มีความรู้สึกก้าวร้าว ง่วงนอน ดีซ่าน ตับทำงานผิดปกติ รู้สึกสับสน คลื่นไส้ ตัวบวม มีผื่นคัน การทรงตัวของร่างกายผิดปกติ บางคนจะมีอาการคล้ายเป็นลม

    สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการหมดสติ ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน อ่อนแรง มีภาวะหายใจแผ่วเบา ไม่สามารถทรงตัวได้ บางรายอาจพบภาวะโคม่า หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที สำหรับยาที่ใช้ต้านพิษคลอไดอะซิปอกไซด์ได้แก่ ยา Flumazenil

    มีข้อควรระวังการใช้คลอไดอะซิปอกไซด์อย่างไร?

    มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ ดังนี้เช่น

    • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
    • ให้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีระบบทางเดินหายใจขัดข้องหรืออุดตัน
    • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตประสาทชนิดเรื้อรัง
    • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
    • ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้เอง
    • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุและเด็ก
    • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะสงบ/กดประสาทอย่างมากจนถึงขั้นหมดสติและโคม่าได้
    • ระวังการติดยา
    • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
    • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้เป็นเวลานานๆเพราะอาจติดยาจึงควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
    • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

    ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอไดอะซิปอกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

    คลอไดอะซิปอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

    ยาคลอไดอะซิปอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

    • การใช้ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ร่วมกับยา Cimetidine จะทำให้ปริมาณตัวยาคลอไดอะซิปอกไซด์ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจส่งผลมากเกินต่อระบบประสาทของผู้ป่วย หากจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
    • การใช้ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ร่วมกับยา Fentanyl, Hydrocodone (ยาแก้ปวดในกลุ่มยาฝิ่น) และ Chlorpheniramine อาจทำให้มีอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงตามมาเช่น ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ ขาดสติสัมปชัญญะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
    • การใช้ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ร่วมกับยา Disulfiram (ยารักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง) อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนอย่างมากจนถึงขั้นหายใจช้าและเบามากจนอาจหยุดหายใจ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
    • การใช้ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ร่วมกับยาชาเช่น Lidocaine จะทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาคลอไดอะซิปอกไซด์ได้มากยิ่งขึ้นเช่น วิงเวียน ง่วงนอน และรู้สึกสับสน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร

    ควรเก็บรักษาคลอไดอะซิปอกไซด์อย่างไร?

    ควรเก็บรักษายาคลอไดอะซิปอกไซด์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

    คลอไดอะซิปอกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

    ยาคลอไดอะซิปอกไซด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

    ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
    Benpine (เบนปีน) Atlantic Lab
    Chlordiazepoxide Acdhon (คลอไดอะซิปอกไซด์ แอคฮอน) Acdhon
    Chlordiazepoxide March Pharma (คลอไดอะซิปอกไซด์ มาร์ช ฟาร์มา) March Pharma
    Chlordibrax (คลอดิแบรกซ์) Utopian
    Chlordixide (คลอดิไซด์) Lerd Singh
    Comoben (โคโมเบน) A N H Products
    Chlordiazepoxide Acdhon (Cozep (โคเซพ) Central Poly Trading
    Dirax (ดิแรกซ์) Medicpharma
    Epoxide (อีปอกไซด์) PP Lab
    Kenspa (เคนสปา) Kenyaku
    Librax (ไลแบรกซ์) A.Menarini

    Licon (ลิคอน) Life Concern Med-Zepoxide (เมด-ซิปอกไซด์) Medical Supply Metaxide (เมตะไซด์) Udompon (Phihalab) Minoxide (มินอกไซด์) BJ Benjaosoth Modurax (โมดูแรกซ์) Utopian Pobrax (โพแบรกซ์) Central Poly Trading Radibrax (เรดิแบรกซ์) Pharmasant Lab Tumax (ทูแมกซ์) Sriprasit Pharma Utorax (ยูโทแรกซ์) Utopian

    บรรณานุกรม


    1. http://en.wikipedia.org/wiki/Chlordiazepoxide [2015,May9]
    2. http://www.mims.com/usa/drug/info/chlordiazepoxide/?type=full&mtype=generic [2015,May9]
    3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/62#item-8475 [2015,May9]
    4. http://www.drugs.com/drug-interactions/chlordiazepoxide-index.html?filter=3&generic_only= [2015,May9]
    5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=chlordiazepoxide [2015,May9]