คลอโรควิน (Chloroquine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลอโรควิน (Chloroquine) เป็นสารเคมีประเภท 4-Aminoquinoline (สารเคมีที่นำมาใช้ผลิตยาต้านโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น) เป็นยาที่ใช้ทั้งป้องกันและบำบัดรักษาโรคมาลาเรีย ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) แต่ยังไม่ได้นำมาใช้กับมนุษย์ด้วยเป็นสารที่มีพิษสูง จนกระทั่งสง ครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490) สหรัฐอเมริกาได้พัฒนานำมาใช้รักษาและป้องกันมา ลาเรีย

สำหรับเชื้อมาลาเรียที่ตอบสนองกับยาคลอโรควินได้ดีคือ ชนิด Plasmodium vivax P.ovale และ P.malariae เชื้อบางตัวที่ดื้อต่อยาคลอโรควินเช่น P.failciparum ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยา Meflo quine หรือ Atovaquone ในการรักษาแทนคลอโรควิน

นอกจากนี้ยาคลอโรควินยังมีประโยชน์ทางคลินิกสำหรับรักษาโรคอื่นๆอีกเช่น โรคฝีตับที่เกิดจากเชื้ออะมีบา/Amoeba (Amoebic liver abscess) โรคข้อรูมาตอยด์ และอาจใช้เป็นยาต้านไวรัสเอดส์อีกด้วย

เมื่อยาคลอโรควินเข้าสู่กระแสเลือดจะสามารถแพร่ซึมเข้าสู่อวัยวะต่างๆเช่น ไต ตับ ปอด ม้าม สามารถผ่านรกและเข้าในน้ำนมมารดาได้ อวัยวะตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลา 1 - 2 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุวัตถุประ สงค์ของการใช้ยานี้สำหรับป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียและรักษาโรคข้อรูมาตอยด์

รูปแบบที่มีการใช้ยานี้ในปัจจุบันมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด โดยขนาดของการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับคำสั่งของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา

คลอโรควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คลอโรควิน

ยาคลอโรควินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาการติดเชื้อมาลาเรียชนิดเฉียบพลัน (Acute malaria)
  • สำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย /ไข้จับสั่น (Prophylaxis of malaria)
  • รักษาโรคลูปัส/โรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus: Lupus หรือ SLE)
  • รักษาการติดเชื้ออะมีบาที่ตับ/Hepatic amoebiasis (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ฝีตับ)
  • รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

คลอโรควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอโรควินคือ ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าเซลล์เม็ดเลือดแดง เมื่อเชื้อที่เป็นปรสิตเช่น เชื้อมาลาเรียรวมถึงเชื้ออะมิบาที่เข้าไปก่อโรคในตับ มาทำลายเม็ดเลือดแดง ตัวปรสิตเหล่านั้นจะได้รับพิษจากส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงที่มีตัวยานี้อยู่ จึงทำให้เซลล์ของปรสิตแตกออกจนไม่สามารถขยายพันธุ์ได้

นอกจากนี้ ยาคลอโรควินยังทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในเซลล์ของอว้ยวะที่ยานี้แทรกซึมเข้าไปถึงมีค่าเพิ่มขึ้น จึงส่งผลรบกวนกระบวนการย่อยทำลายโปรตีนในระดับเซลล์ ทำให้ชะลอการสร้างสาร Antigenic protein ซึ่งเป็นสารตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ต่างๆเช่น ข้อ ผิวหนัง หัวใจ ไต ด้วยกลไกแหล่านี้ยาคลอโรควินจึงถูกนำมาใช้ร่วมรักษาโรคลูปัส และโรคข้อรูมาตอยด์ได้เช่นกัน

คลอโรควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลอโรควินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมกับยาวิตามินเช่น Ascorbic acid 50 มิลลิกรัม + Chloroquine phosphate 250 มิลลิกรัม + Thiamine HCl 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาดบรรจุ 60 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 322.6 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 5% (5 มิลลิกรัม/ยา 100 มิลลิลิตร)

คลอโรควินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคลอโรควินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อมาลาเรียชนิดเฉียบพลัน (Acute malaria): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานในวันแรก 600 มิลลิกรัม จากนั้นทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมงรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม, ในวันต่อไปรับประทาน 300 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : เริ่มรับประทานในวันแรก 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม จากนั้นในวันต่อไปรับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 6 ชั่วโมง ครั้งเดียว โดยรับประทานขนาดสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม

ข. สำหรับป้องกันเชื้อมาลาเรีย (Prophylaxis of malaria): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 มิลลิกรัมสัปดาห์ละครั้ง ให้รับประทานยา 1 สัปดาห์ก่อนเข้าพื้นที่ที่มีไข้มาลาเรียระบาด และรับประทานต่อเนื่องทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์
  • เด็ก: รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ระยะเวลารับประทานขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

ค. สำหรับรักษาโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง ค่อยปรับลดปริมาณยาลงมาโดยแพทย์เมื่อผลการรักษาเริ่มดีขึ้น และขนาดสูงสุดไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็ก: รับประทาน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ง. สำหรับรักษาการติดเชื้ออะมีบาที่ตับ/ฝีตับจากเชื้ออะมีบา (Hepatic amoebiasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 600 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นรับประทานยา 30 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์
  • เด็ก: รับประทาน 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลารับประทานขึ้นกับคำสั่งแพทย์

จ. สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 150 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และควรหยุดยาหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน
  • เด็ก: รับประทาน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ระยะเวลารับประทานขึ้นกับคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ:

  • ควรรับประทานยาคลอโรควินพร้อมอาหาร
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอโรควิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอโรควินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลอโรควินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คลอโรควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอโรควินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ผมร่วง
  • ผิวหนังไวกับแสงแดด (ผิวหนังอักเสบหรือขึ้นผื่นเมื่อโดนแสงแดดโดยตรง)
  • การได้ยินผิดปกติ
  • เกิดภาวะลมชัก
  • เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ (ทราบได้จากการตรวจเลือด CBC)
  • รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ผื่นคัน ลมพิษ
  • มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • อาจมีภาวะโคม่าตามมา

มีข้อควรระวังการใช้คลอโรควินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอโรควิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยานี้เช่น เชื้อ P.falciparum
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาที่ก่อให้เกิดพิษกับตับเช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาท โรคขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
  • ระวังการใช้ยากับสตรีมตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอโรควินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คลอโรควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอโรควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาคลอโรควินร่วมกับยากระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นยา Neostigmine, Physostigmine, Pyridostigmine จะเกิดการต้านฤทธิ์การรักษาซึ่งกันและกัน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน
  • การใช้ยาคลอโรควินร่วมกับยา Ampicillin จะทำให้การดูดซึมยา Ampicillin ลดน้อยลงจนกระทบต่อการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาคลอโรควินร่วมกับยา Cimetidine จะทำให้ระดับยาคลอโรควินอยู่ในกระแสเลือดได้นานขึ้นจนอาจมีผลข้างเคียงติดตามมา ควรเลี่ยงไม่ใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาคลอโรควินอย่างไร?

ควรเก็บยาคลอโรควินทั้งชนิดรับประทานและยาฉีด เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

คลอโรควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอโรควิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Chewoquine (ชิวโอควิน) Chew Brothers
Chewoquine SC (ชิวโอควิน เอสซี) Chew Brothers
Chewoquine-G (ชิวโอควิน-จี) Chew Brothers
Chewoquine-Y (ชิวโอควิน-วาย) Chew Brothers
Chloroquine Acdhon (คลอโรควิน แอคฮอน) Acdhon
Chloroquine Burapha (คลอโรควิน บูรพา) Burapha
Chloroquine GPO (คลอโรควิน จีพีโอ) GPO
Chloroquine Phosphate Asian Pharm (คลอโรควิน ฟอสเฟต เอเชียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Diroquine (ไดโรควิน) Atlantic Lab
Genocin (เจโนซิน) General Drugs House
Malacin (มาลาซิน) ANB
Nitaquin (ไนตาควิน) Utopian
P-Roquine (พี-โรควิน) P P Lab
Sinmoquin (ซินโมควิน) SSP Laboratories

 

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Chloroquine[2020,April 25]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fchloroquine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage[2020,April 25]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=CHLOROQUINE[2020,April 25]