คลอธาลิโดน (Chlorthalidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลอธาลิโดน(Chlorthalidone หรือ Chlortalidone) เป็นยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์คล้ายกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide-like diuretic) ทางคลินิกได้นำยานี้มาใช้ลดความดันโลหิตสูง ยาคลอธาลิโดนถูกขึ้นทะเบียนสูตรตำรับตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารไม่ค่อยแน่นอน เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ประมาณ 75% ของยาคลอธาลิโดนจะเข้ารวมกับพลาสมาโปรตีน และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 40 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

การออกฤทธิ์ของยาคลอธาลิโดนจะเกิดขึ้นที่ไตด้วยการกีดกันมิให้ร่างกายดูดคืนเกลือโซเดียมและเกลือดคลอไรด์กลับเข้าสู่กระแสเลือด การมีเกลือดังกล่าวน้อยลงส่งผลต่อแรงดันในผนังหลอดเลือด พร้อมกับช่วยขับน้ำออกจากเซลล์ของร่างกาย จึงช่วยลดภาวะบวมน้ำได้อีกด้วย

ยาคลอธาลิโดน มีข้อห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด หรือผู้ที่มีภาวะไตวายระดับรุนแรง ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นอกจากนี้ยังห้ามใช้ยาคลอธาลิโดนร่วมกับยาบางตัว ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเหล่านั้นได้มากขึ้น เช่นยา Diazoxide, Digoxin, Ketanserin, และ Lithium เป็นต้น

โดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำผู้ที่ได้รับยานี้/ผู้ป่วย ให้รับประทานในช่วงเช้า การรับประทานยานี้ก่อนนอน หรือช่วงเย็น จะทำให้การนอนหลับของผู้ป่วยถูกรบกวนโดยต้องขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อยขึ้น

อนึ่ง ยังมีผลข้างเคียงบางประการของการใช้ยาคลอธาลิโดนที่ผู้ป่วยควรต้องเฝ้าระวัง เช่น การวิงเวียนศีรษะ หากพบอาการนี้ ผู้ป่วยควรอยู่ในท่าพักหรือนอนเพื่อให้อาการดังกล่าวทุเลาขึ้น หรือบางครั้งมีอาการทางผิวหนังโดยทำให้ผิวหนังไวหรือผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย การออกที่โล่งแจ้งของผู้ป่วยจึงควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมผิวหนังให้มิดชิดมากขึ้น นอกจากนี้ ยาคลอธาลิโดนยังทำให้ร่างกายมีสภาพพร่องเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้นขณะที่ใช้ยาคลอธาลิโดน แพทย์มีความจำเป็นต้องสั่งจ่ายยาเสริมโปแตสเซียมให้กับผู้ป่วยร่วมด้วย การไม่รับประทานยาโปแตสเซียมเพื่อช่วยปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายจะทำให้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวสั่น ท้องผูก กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะกล้ามเนื้อลายสลายร่วมด้วย

*การได้รับยาคลอธาลิโดนเกินขนาดจะทำให้ผู้ป่วยมี ความรู้สึกสับสน วิงเวียน ปากแห้ง ปัสสาวะมากและตามด้วยปัสสาวะออกน้อย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการหัวใจเต้นแผ่ว/เต้นเบา เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวผู้ป่วยควรต้องรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ยาคลอธาลิโดนที่มีจำหน่าย มีทั้งชนิดที่เป็นตำรับยานี้เดี่ยวๆ และ ชนิดที่เป็นสูตรตำรับที่มียาอื่นผสมร่วมอยู่ด้วย เช่นผสมกับยา Atenolol หรือ Azilsartan(ยาลดความดันโลหิตสูง) สำหรับประเทศไทย อาจพบเห็นแต่สูตรตำรับยาผสมซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ และมีการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

คลอธาลิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คลอธาลิโดน

ยาคลอธาลิโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
  • บำบัดรักษาอาการหัวใจล้มเหลว
  • ช่วยลดอาการบวมน้ำของร่างกาย

คลอธาลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอธาลิโดนคือ ตัวยานี้จะเป็นยาที่ช่วยลดความดันโลหิต โดยตัวยามีการออกฤทธิ์ได้นานที่ไต ซึ่งยานี้จะเร่งการขับออกทางปัสสาวะของเกลือโซเดียม และเกลือคลอไรด์ รวมถึงน้ำ ในร่างกาย จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดการปรับแรงดันภายในหลอดเลือด อีกทั้งส่งผลลดปริมาณเลือดที่ต้องถูกสูบฉีดออกจากหัวใจ ด้วยกลไกที่กล่าวมาทั้งหมด จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

คลอธาลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลอธาลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเดี่ยวชนิดเม็ดแบบรับประทาน ที่ประกอบด้วย Chlortalidone ขนาด 15, 25, 50, และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มียาอื่นผสมร่วมด้วย เช่น Azilsartan medoxomil 40 มิลลิกรัม + Chlorthalidone 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด, Azilsartan medoxomil 40 มิลลิกรัม + Chlorthalidone 25 มิลลิกรัม/เม็ด

คลอธาลิโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคลอธาลิโดน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25–100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน

ข.สำหรับลดอาการบวมน้ำของร่างกาย:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 50–100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันเว้นวัน ขนาดรับประทานสูงสุดแพทย์อาจปรับถึง 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

อนึ่ง:

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ในช่วงมื้อเย็นหรือก่อนนอน
  • แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานลดลงเมื่อใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • รับประทานยานี้ได้ ทั้งพร้อมอาหาร หรือหลังอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคลอธาลิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอธาลิโดน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ลืมรับประทานยาคลอธาลิโดน สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

การลืมรับประทานยาคลอธาลิโดน อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา การใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

คลอธาลิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอธาลิโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะThrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ), Leucopenia(ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ), Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน ตับอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผื่นแพ้แสงแดดง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย มีน้ำตาลใน ปัสสาวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อเกร็งตัว/ตะคริว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น ไขมันในเลือดสูง เกลือโซเดียมใน เลือดต่ำ เกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง มีอาการของโรคเกาต์

มีข้อควรระวังการใช้คลอธาลิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอธาลิโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง หรือผู้ที่มีทางเดินปัสสาวะอุดกั้น/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยด้วยภาวะ Addisons disease ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ที่มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาคลอธาลิโดนร่วมกับยาอื่นใดโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาเปียกชื้น หรือ แตกหัก
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยา
  • รับประทานยาต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวัน
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ต้องควบคุมดูแลระดับเกลือแร่ในร่างกายให้มีความสมดุลเสมอ รวมถึงตรวจสอบการทำงานของอวัยวะตับ-ไต ให้เป็นปกติตลอดเวลาตามแพทย์สั่ง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคเกาต์ ผู้ที่มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง
  • ระวังการเกิดความดันโลหิตต่ำ หรือมีระดับเกลือโปแตสเซียม/ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อการตรวจร่างกาย ตรวจวัดความดันโลหิต รวมถึงแพทย์อาจปรับแนวทางการรักษาหากมีเหตุจำเป็น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอธาลิโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คลอธาลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอธาลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคลอธาลิโดนร่วมกับยา Amiodarone, Dofetilide, Pimozide, ด้วยจะทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคลอธาลิโดนร่วมกับยา Lithium เพราะจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับอาการข้างเคียงของยา Lithium เพิ่มสูงขึ้น เช่น มีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก เดินเซ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การใช้ยาคลอธาลิโดนร่วมกับยา Sodium biphosphate อาจทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาคลอธาลิโดนร่วมกับยา Tizanidine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา และมีอาการข้างเคียงบางอย่างร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ

ควรเก็บรักษาคลอธาลิโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาคลอธาลิโดนภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

คลอธาลิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอธาลิโดน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
THALITONE (ธาลิโทน)King Pharmaceuticals, Inc
Hygroton (ไฮโกรตอน)Amdipharm Plc

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น CTD, Hydrazide, Hythalton, Lupiclor, Thalizide, Thaloric

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/chlorthalidone.html[2017,March25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlortalidone[2017,March25]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/chlortalidone/?type=brief&mtype=generic[2017,March25]
  4. http://labeling.pfizer.com/ShowLabeling.aspx?format=PDF&id=711[2017,March25]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypokalemia#Signs_and_symptoms[2017,March25]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/chlortalidone/?type=brief&mtype=generic[2017,March25]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/chlorthalidone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,March25]