ครีมเทียมหอมมันแต่อันตราย (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ครีมเทียมหอมมันแต่อันตราย

เพื่อเลียนแบบรสชาติของไขมันนม ครีมเทียมมักมีส่วนประกอบหลักๆ คือ

น้ำเชื่อมข้าวโพด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น High Fructose Corn Syrup (HFCS) หรือมีน้ำตาลฟรุกโตสเป็นองค์ประกอบจำนวนมาก โดยตับจะเป็นอวัยวะเดียวของร่างกายที่สามารถเผาผลาญฟรุกโตสได้ ดังนั้นหากมีการกินในปริมาณที่มากฟรุกโตสจะทำลายตับเช่นเดียวกับที่แอลกอฮอล์ทำลายตับ ทำให้เกิดไขมันสะสมเป็นสาเหตุให้เยื่อหุ้มไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial malfunction) ทำงานผิดปกติ เป็นโรคอ้วน และโรคที่เกี่ยวกับโรคอ้วน

ไขมันสังเคราะห์ในกลุ่มไขมันทรานส์ (Hydrogenated vegetable-based fats) ซึ่งเป็นไขมันที่ได้จากน้ำมันพืชและผ่านกรรมวิธีเติมไฮโดรเจนเข้าไป มีผลในการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ คลอเรสเตอรลสูง และแม้แต่โรคตับ

โซเดียมเคซีเนต (Sodium caseinate) ซึ่งสกัดจากโปรตีนนม ใช้เป็นสารเพิ่มความเข้มข้นและความขาวของของเหลว (Thickener and whitening agent) ถือเป็นสารเคมีที่เป็นด่าง (Chemical alkali) สามารถทำลายหรือหยุดยั้งการดูดซึมของสารอาหาร (Anti-nutrients) นอกจากนี้เคซีเนตยังอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ระบบประสาท และภาวะภูมิต้านตนเอง (Autoimmune reaction) เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Juvenile-onset type 1 diabetes)

ไดโพแทสเซียมฟอสเฟต (Dipotassium Phosphate) เป็นเกลือละลายน้ำได้ดี ใช้ในการต้านการเกาะเป็นก้อน (Anti-coagulant) ของครีมเทียม ซึ่งมีการใช้สารชนิดนี้ในปุ๋ยและเครื่องสำอางด้วย

โมโนและไดกลีเซอไรด์ (Mono- and Diglycerides) ใช้ช่วยในการผสมส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น น้ำมันและน้ำ

โซเดียม สเตียโลอิล แลคทิเลท (Sodium Stearoyl Lactylate = SSL) สารนี้ใช้ช่วยเรื่องการเกาะตัวของแป้งโดนัท (Strengthen bread dough) ใส่ในสารทำความสะอาด (Cleanser) สารทำฟอง (Foaming agent) และเป็นสารป้องกันการแยกตัวของน้ำและน้ำมัน (Emulsifier) ของเครื่องสำอาง นอกจากนี้เนื่องจาก SSL มีรสหวาน จึงมีการนำมาใช้แทนน้ำตาล ทั้งยังสามารถใช้ลดปริมาณการใช้ไขมันจริงได้ด้วย

วัตถุปรุงแต่งกลิ่นรสตามธรรมชาติ (Natural flavor) เช่น วานิลลา (French vanilla) ฮัสเซลนัท (Hazelnut)

เมื่อทราบถึงส่วนประกอบหลักๆ แล้ว เราจึงควรพิจารณาถึงการกินกาแฟใส่ครีมเทียมเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยพบว่าการกินกาแฟนั้นมีประโยชน์อยู่ เช่น ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes) โรคพาร์คินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งในไต เป็นต้น

ดังนั้นทางที่ปลอดภัยหากต้องการได้รับประโยชน์จากกาแฟจริง จึงควรกินแต่กาแฟดำ หลีกเลี่ยงอาหารสังเคราะห์ (Synthetic foods) เช่น ครีมเทียม น้ำตาล [เพราะการเติมน้ำตาลเข้าไปในกาแฟจะเป็นการเพิ่มระดับอินซูลิน] หรือแม้แต่การเติมนม [เพราะนมอาจไปขัดขวางความสามารถในการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย (Bioavailability) ของสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)]

แหล่งข้อมูล

  1. Non-Dairy Creamer, What's In It. http://hippocratesinst.org/Opinion/non-dairy-creamer-whats-in-it [2015, August 7].
  2. What Is Non-Dairy Creamer Made Of ? http://articles.mercola.com/sites/articles/archive/2014/05/17/non-dairy-creamer-chemicals.aspx [2015, August 7].