คริสออทินิบ (Crizotinib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมื่อปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ทางคลินิก ได้นำยาคริสออทินิบ(Crizotinib)มาใช้เป็นยารักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต(Non-small cell lung cancer) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาคริสออทินิบเป็นยาชนิดรับประทาน สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 43% ตัวยานี้ในกระแสเลือดส่วนใหญ่จะโดนทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 42 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ระหว่างที่ได้รับยาคริสออทินิบ แพทย์จะกำกับดูแลและเฝ้าระวังผลกระทบ(ผลข้างเคียง)บางประการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยดังต่อไปนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้/ยานี้ภายใน 2 เดือน อาจเกิดภาวะปอดอักเสบ
  • ยาคริสออทินิบสามารถทำให้ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ และมีผู้ป่วยบางราย แพทย์ต้องให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาคริสออทินิบ ด้วยเกิดพยาธิสภาพของตับ/ตับอีกเสบอย่างรุนแรง ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจสภาพตับเดือนละครั้งอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นระยะๆ ด้วยยาคริสออทินิบสามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ แพทย์จะคอยปรับการใช้ยานี้ เช่น หยุดการให้ยาผู้ป่วยเป็นระยะๆ กรณีที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจยังไม่กลับมาเป็นปกติแพทย์จะระงับการใช้ยานี้

สัญญาณหรือลักษณะทางร่างกายที่ผู้ป่วยสามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงอันตราย(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากการใช้ยาชนิดนี้ และควรต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงมีดังต่อไปนี้ เช่น

  • เกิดอาการ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป ร่วมกับมีอาการหนาวสั่น
  • อาเจียนมากกว่า 4–5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • มีอาการท้องเสีย 4–6 ครั้งต่อวัน
  • เกิดอาการระคายเคืองตาอย่างมาก
  • ผิวหนังและตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง/ดีซ่าน
  • ปัสสาวะมีสีคล้ำหรือมีสีน้ำตาลเหมือนสีชา/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • เบื่ออาหาร
  • เจ็บช่องท้องโดยเฉพาะด้านขวาส่วนบน(ตำแหน่งที่อยู่ของตับ)
  • ไอมีเสมหะ หรือไอแห้ง บ่อยครั้ง

ยาคริสออทินิบเป็นยารักษามะเร็งฯที่มีจำหน่ายในบ้านเรา คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษและยาอันตรายร้ายแรงที่ต้องใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว โดยเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งใช้ชื่อ การค้าว่า “Xalkori”

คริสออทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คริสออทินิบ

ยาคริสออทินิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต

คริสออทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ก่อนใช้ยาคริสออทินิบรักษาผู้ป่วย แพทย์จะทำการตรวจทดสอบเอนไซม์ของร่างกาย ที่มีชื่อว่า Anaplastic lymphoma kinase (ALK) ในผู้ป่วยมะเร็งปอดจะพบว่าเอนไซม์นี้ มีความผิดปกติในระดับพันธุกรรมหรือยีน/จีน(Gene) คริสออทินิบเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว ส่งผลให้กระบวนการเจริญเติบโตตลอดจนการแบ่งเซลล์ของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตหยุดชะงัก และหมดความสามารถในการแพร่กระจายในที่สุด

คริสออทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคริสออทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Crizotinib 200 และ 250 มิลลิกรัม/แคปซูล

คริสออทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคริสออทินิบมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก

*หมายเหตุ:

  • ก่อนสั่งจ่ายยานี้ แพทย์จะตรวจสอบระดับ ALK ของผู้ป่วยเพื่อยืนยันสถานะการเป็นโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต
  • การรับประทานยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องโดยสามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ และปอด ตามที่แพทย์นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคริสออทินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคริสออทินิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาคริสออทินิบ ต่อเนื่องจึงจะเกิดประสิทธิผลต่อการรักษา กรณีลืมรับประทาน สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป เช่นเหลือเวลาอีกไม่ถึง 6 ชั่วโมงก็จะถึงเวลารับประทานยามื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานยานี้เป็น 2 เท่า ให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติตรงตามเวลาเดิม

คริสออทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคริสออทินิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสีย กระเพาะอาหารทะลุ ท้องผูก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปลายประสาทอักเสบ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ตับวาย
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดถุงน้ำที่ไต(Renal cyst) เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ เบื่ออาหาร โปแตสเซียมในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวลด
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้คริสออทินิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคริสออทินิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ป้องกันการตั้งครรภ์ทั้งในสตรีและบุรุษขณะที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับยานี้
  • ปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตประจำวันตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น เลี่ยงการโดนแสงแดดจัดเป็นเวลานานเพราะจะเกิดผื่นแพ้แสงแดดได้ง่าย ล้างมือบ่อยครั้งขึ้น และไม่อยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย
  • หากพบอาการคลื่นไส้อาเจียน ห้ามไปซื้อหายาใดๆมารับประทานเอง ต้องใช้ยาบรรเทาอาการดังกล่าวตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำของร่างกาย รับประทานอาหารและพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพได้เร็วขึ้น
  • กรณีเกิดอาการข้างเคียงต่างๆให้รีบมาปรึกษาแพทย์ โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสม
  • หากมีอาการ ตาพร่า มองภาพไม่ชัดเจน ห้ามผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ควรรีบกลับมาโรงพยาบาล/มาปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจการทำงานของ ตับ ไต หัวใจ และปอด ตลอดจนกระทั่ง การตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษามะเร็ง ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคริสออทินิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คริสออทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคริสออทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาคริสออทินิบร่วมกับยา Atazanavir, Clarithromycin, Indinavir Ketoconazole, Saquinavir เพราะจะทำให้ระดับยาคริสออทินิบในเลือดเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากคริสออทินิบสูงขึ้นตามมา
  • ห้ามรับประทานยาคริสออทินิบร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, Rifabutin, Rifampicin เพราะจะทำให้ระดับยาคริสออทินิบในเลือดลดลง จนส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาคริสออทินิบด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาคริสออทินิบร่วมกับยา Beta-blockers, Clonidine, Digoxin, Pilocarpine ด้วยจะทำให้มีภาวะหัวใจเต้นช้าตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคริสออทินิบร่วมกับยา Disopyramide, Quinidine, Amiodarone, Sotalol, Cisapride เพราะจะทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

ควรเก็บรักษาคริสออทินิบอย่างไร?

ควรเก็บยาคริสออทินิบ ในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คริสออทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคริสออทินิบ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Xalkori (ซาลโคริ)Pfizer Aventis

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/crizotinib.html [2018,April21]
  2. https://www.drugs.com/sfx/crizotinib-side-effects.html [2018,April21]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Crizotinib [2018,April21]
  4. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/crizotinib.aspx [2018,April21]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/crizotinib/?type=brief&mtype=generic [2018,April21]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/202570s002lbl.pdf [2018,April21]