ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในแผนกหูคอจมูก พบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานที่แน่นอนเรื่องอุบัติการณ์การเกิดภาวะขี้หูอุดตัน แต่มีรายงาน โดยพบได้ประมาณ 10% ในเด็กทั้งหมด ประมาณ 5% ในผู้ใหญ่ และสูงถึงประมาณ 50-60% ในผู้สูงอายุ

ขี้หูอุดตัน

ขี้หูเกิดได้อย่างไร?

ขี้หู (Cerumen หรือ Ear wax) เกิดจากสารไขมันที่ผลิตจากต่อมเหงื่อ (Sebaceous gland) และต่อมพิเศษ (Cerumenous gland) ในช่องหู โดยประกอบด้วย ผิวหนัง/เยื่อบุช่องหูที่หลุดลอก (Keratin) และสารที่ผลิตจากต่อมทั้งสองข้างต้น

ขี้หู แบ่งเป็นสองประเภทคือ ขี้หูแห้ง (Dry cerumen) และขี้หูเปียก (Wet cerumen) ซึ่งขี้หูเปียกจะมีไขมันและเม็ดสีมากกว่าขี้หูแห้ง จึงเหนียวและมีสีเข้มกว่า เชื่อว่าเชื้อชาติที่แตก ต่างกัน อาจเป็นสาเหตุให้มีลักษณะขี้หูที่ต่างกันไป เช่น พบว่าในหมู่ชาวเอเชีย จะพบขี้หูแห้งมากกว่าชาติผิวขาวที่มีลักษณะขี้หูเปียก

ขี้หูมีหน้าที่อย่างไร?

หน้าที่ของขี้หู เชื่อว่าเป็นสารหล่อลื่น และเป็นตัวคอยดักจับเชื้อโรค และ/หรือฝุ่น เพื่อป้องกันหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง (กายวิภาคและสรีรวิทยาของหู)

ภาวะขี้หูอุดตันมีอาการอย่างไร?

อาการ จากมีภาวะขี้หูอุดตัน ได้แก่

  • คันหู
  • หูอื้อ
  • ปวดหู
  • การได้ยินลดลง
  • มีเสียงดังในหู จากการเคลื่อนที่ไปมาของขี้หู
 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดขี้หูอุดตัน?

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดขี้หูอุดตัน ได้แก่

1. ลักษณะทางกายวิภาคในช่องหู เช่น ช่องหูแคบ

2. ส่วนประกอบของขี้หู ถ้าส่วนประกอบของขี้หูผิดสัดส่วน เช่น มีส่วนประกอบของสาร Keratin (โปรตีนชนิดหนึ่ง) มาก จะทำให้ขี้หูแข็ง และเคลื่อนตัวจากช่องหูลำบาก จึงอุดตันได้ง่าย

3. การผลิตขี้หูเพิ่มมากผิดปกติ เช่น ภาวะมีเหงื่อออกมาก หรืออยู่ในที่มีฝุ่นละอองมากตลอด เวลา

4. การใช้สำลีปั่นหูบ่อย ทำให้ช่องหูแคบลง อาจทำให้ขี้หูเกิดการอุดตันได้

5. โรคความผิดปกติของผิวหนังช่องหู เช่น โรค Keratosis Obturans ซึ่งเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง/เยื่อบุช่องหูผิดปกติ ขี้หูจึงมีส่วนประกอบของ Keratin มากขึ้น ทำให้ขี้หูแข็ง ติดแน่นกับช่องหู ถ้าทิ้งไว้นานๆอาจเกิดการกร่อนต่อผนังช่องหูได้ นอกจากนี้ภาวะ Keratosis Obturans อาจก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ช่องหูได้

6. ใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aid) หรือ หูฟังเป็นประจำ เพราะจะก่อการระคายต่อเยื่อบุช่องหู จึงมีการสร้างขี้หูมากขึ้น

แพทย์วินิจฉัยภาวะขี้หูอุดตันอย่างไร?

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหูอื้อ หรืออาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการ การส่องตรวจช่องหูด้วยเครื่องมือแพทย์ที่เรียกว่า Otoscope จะช่วยให้แพทย์เห็นว่า มีขี้หูอุดตันในช่องหูหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและไม่เจ็บ

รักษาภาวะขี้หูอุดตันอย่างไร?

การรักษาภาวะขี้หูอุดตัน เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะขี้หูอุดตัน แพทย์จะทำการนำขี้หูออกมา เพื่อให้การได้ยินกลับมาเป็นปกติ โดยอาจใช้เครื่องดูดขี้หู (Suction) การคีบ หรือ การแคะด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

ในกรณีที่ขี้หูแข็งมาก อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดขณะนำขี้หูออกมา แพทย์อาจใช้ยาหยอดละลายขี้หู เช่น น้ำมันมะกอก หรือ น้ำยา 2.5% NaHCO3 (โซเดียมไบคาร์บอเนต/Sodium bicarbonate) เพื่อทำให้ขี้หูนิ่มก่อน เพื่อความสะดวกในการนำขี้หูออกมา และลดความเจ็บปวดของผู้ป่วย

นอกจากนี้ ถ้าตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหูชั้นนอกอักเสบ (หูติดเชื้อ)ร่วมด้วย แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะแบบหยอดหู หรือแบบรับประทาน แล้วแต่ความรุนแรงของการอักเสบติดเชื้อที่เกิดขึ้นในช่องหู

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น การได้ยินลดลง ปวดหู หูอื้อ ควรพบแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก เพื่อตรวจแยกโรคจากภาวะอื่น เช่น การติดเชื้อช่องหูด้านนอก (หูติดเชื้อ) ประสาทหูอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากภาวะที่กล่าวมามีความรุนแรงกว่าภา วะขี้หูอุดตัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ประสาทหูเสื่อมถาวร เป็นต้น

ป้องกันภาวะขี้หูอุดตันอย่างไร?

การป้องกันภาวะขี้หูอุดตันที่สำคัญ คือ ไม่ใช้ไม้พันลำลี หรือ ไม้แคะหู แคะหู หรือทำความสะอาดในช่องหู เพราะจะเป็นตัวช่วยดันให้เกิดขี้หูอุดตัน ทั้งนี้การทำความสะอาดหูควรเป็นการทำความสะอาดเพียงหูส่วนนอกเท่านั้น

การป้องกันขี้หูอุดตันซ้ำ ส่วนใหญ่เมื่อนำขี้หูออกมาแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าการได้ยินดีขึ้น ส่วนการเกิดซ้ำในแต่ละรายนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ถ้ามีช่องหูแคบผิดปกติ หรือโรคของผิวหนังในช่องหู Keratosis Obturans หรือ ใส่เครื่องช่วยฟัง ส่วนใหญ่จะเกิดขี้หูอุดตันซ้ำได้ ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถ้ามีอาการหูอื้อ ควรพบแพทย์เพื่อนำขี้หูออกมา เพราะยากต่อผู้ป่วยที่จะทำความสะอาดช่องหูเองได้ และอาจเกิดการบาดเจ็บต่อช่องหูได้

ส่วนในผู้ป่วยอื่นที่ไม่มีความเสี่ยงแต่เกิดจากขี้หูแข็ง ควรปรึกษาแพทย์หูคอจมูกถึงวิธีในการดูแลตนเอง ไม่ควรซื้อยาหยอดหูใช้เอง หรือใช้วิธีแคะหูโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

บรรณานุกรม

1. Roeser RJ, Ballachanda BB. Physiology, pathophysiology, and anthropology/epidemiology of human earcanal secretions. J Am Acad Audiol. 1997;8:391–400.

2. J.F. GUEST, M.J. GREENER,et al.Impacted cerumen: composition, production, epidemiologyand management. Q J Med 2004; 97:477–488.

3. https://www.aafp.org/afp/2007/0515/p1523.pdf [2020,Feb29]

4. https://www.aafp.org/patient-care/clinical-recommendations/all/earwax.html [2020,Feb29]