ขี้ทอนซิล (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ขี้ทอนซิล

ส่วนใหญ่ก้อนนิ่วทอนซิลจะประกอบไปด้วยแคลเซียม แต่ก็อาจมีสารอื่นประกอบด้วย เช่น ฟอสฟอรัส (Phosphorus) แมกเนเซียม (Magnesium) แอมโมเนีย (Ammonia) และคาร์บอเนต (Carbonate)

นิ่วทอนซิลทำให้มีความรู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอ ก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด นอกจากการเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะมีกลิ่นปาก (Halitosis) และอาจรู้สึกเจ็บขณะกลืน

หากเป็นนิ่วก้อนเล็กก็อาจไม่ปรากฏอาการแต่อย่างใด ส่วนนิ่วก้อนใหญ่อาจทำให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น

  • ภาวะมีกลิ่นปากเป็นประจำ (มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิล)
  • เจ็บคอ (ทำให้วิเคราะห์ยากว่าเกิดจากการติดเชื้อหรือเกิดจากนิ่วทอนซิล)
  • มีเศษก้อนสีขาว (White debris)
  • กลืนลำบาก
  • ปวดหู (เพราะก้อนนิ่วไปกระทบเส้นประสาทหู)
  • ต่อมทอนซิลโต

นอกจากนี้อาจมีความรู้สึกถึงรสของโลหะ (Metallic taste) แน่นคอ ไอกำเริบ (Coughing fits) และสำลัก (Choking)

รศ. นพ. ปารยะ ชี้แจงว่า ปัญหาขี้ไคลทอนซิลนั้นไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมทั้งโรคกรดไหลย้อนไม่ได้มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่ผู้ป่วยอาจสังเกตเองได้ว่า มีพฤติกรรมในการรับประทานอะไรที่อาจกระตุ้นทำให้มีขี้ไคลทอนซิล หรือมีปัญหาที่เกิดจากขี้ไคลทอนซิลมากขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั้น

สำหรับการรักษานั้น รศ. นพ. ปารยะ กล่าวว่า มี 2 วิธี คือ การไม่ผ่าตัดและการผ่าตัด

1. วิธีไม่ผ่าตัด ซึ่งอาจช่วยให้ขี้ไคลทอนซิลหลุดออกมาได้ ได้แก่

  • การกลั้วคอแรง ๆ หลังรับประทานอาหารด้วยน้ำยากลั้วคอ น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่าธรรมดา
  • การใช้นิ้วนวดบริเวณใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่าง (ซึ่งตรงกับบริเวณต่อมทอนซิล)
  • ผู้ป่วยบางรายอาจใช้นิ้วล้วงเข้าไปในช่องปาก แล้วกดบริเวณส่วนล่างของต่อมทอนซิล แล้วดันขึ้นบน หรือใช้ลิ้นดัน หรือใช้ที่พ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก ฟัน และลิ้น (Water pick) ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล

แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ไม้พันสำลี (Cotton bud) ปลายของที่หนีบผม เครื่องมือที่ใช้เขี่ยขี้หูออก (Ear curette) แปรงสีฟันเขี่ยหรือกดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อเอาขี้ไคลทอนซิลออกเอง เพราะผู้ป่วยอาจมองเห็นไม่ชัด จึงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณต่อมทอนซิล อาจเกิดแผล หรือมีเลือดออกได้ ควรให้แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เป็นผู้เขี่ยออกให้

2. วิธีผ่าตัด ได้แก่

  • ใช้กรด Trichloracetic acid หรือ เลเซอร์ (Laser tonsillotomy) จี้ต่อมทอนซิล เพื่อเปิดขอบร่องหรือซอกของต่อมทอนซิลให้กว้าง ไม่ให้เป็นซอกหลืบซึ่งจะเป็นที่สะสมของสิ่งต่างๆ ได้อีก สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่
  • ผ่าตัดต่อมทอนซิลออก (Tonsillectomy) ถือเป็นการรักษาที่หายขาด ซึ่งมักจะทำในกรณีที่ใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล

แหล่งข้อมูล

1. ขี้ไคลทอนซิล. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000012442[2016, March 1].

2. Tonsillolith. https://en.wikipedia.org/wiki/Tonsillolith[2016, March 1].

3. Tonsil Stones (Tonsilloliths). http://www.webmd.com/oral-health/guide/tonsil-stones-tonsilloliths-treatment-and-prevention[2016, March 1].

4. Removing Tonsil Stones. http://www.therabreath.com/removing-tonsil-stones.html[2016, March 1].