ขี้ทอนซิล (ตอนที่ 1)

ขี้ทอนซิล

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้อธิบายว่า ต่อมทอนซิล เป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อประเภทต่อมน้ำเหลือง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด มีหน้าที่ในการจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางเดินอาหาร รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

ต่อมทอนซิลพบได้หลายตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณโคนลิ้น ช่องหลังโพรงจมูก และต่อมที่เราเห็นจะอยู่ด้านข้างของช่องปาก เรียกว่า พาลาทีนทอนซิล

ปกติพาลาทีนทอนซิลจะมีร่องหรือซอก (Crypts) ซึ่งเศษอาหารอาจเข้าไปติดหรือตกค้างได้ นอกจากนั้นเซลล์ที่บุร่องหรือซอกนั้นอาจมีการตายและหลุดลอกออกมาคล้ายกับเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดที่มีการหลุดออกมาเป็นขี้ไคล แล้วมีแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาวและเอ็นไซม์ในน้ำลายเข้าไปย่อยสลาย เกิดเป็นสารคล้ายเนย สีเหลือง ขาวสะสมอยู่ เรียกว่า “ขี้ไคลทอนซิล” (Tonsillar Concretion)

ผู้ป่วยบางรายอาจมีสารแคลเซียมมาเกาะ ทำให้มีลักษณะคล้ายก้อนแคลเซียมหรือก้อนหินอยู่ในร่องของต่อมทอนซิลได้ อาจก่อให้เกิดความรำคาญ รู้สึกคล้ายมีอะไรติดอยู่ในลำคอ ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ มีอาการเจ็บคอเป็นๆ หายๆ มีกลิ่นปาก มีอาการปวดร้าวไปที่หู หรือไอเรื้อรังได้ เนื่องจากอาจไปอุดกั้นการระบายสารคัดหลั่งจากต่อมทอนซิล

แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเป็นๆ หายๆ มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าที่จะเกิดจากขี้ไคลทอนซิล มีผู้ป่วยที่มีขี้ไคลทอนซิลหลายราย ที่ไม่เคยเกิดปัญหาต่อมทอนซิลอักเสบเลย ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างขี้ไคลทอนซิลและการอักเสบของต่อมทอนซิลเป็นๆ หายๆ นั้น จึงยังไม่ทราบแน่ชัด

ขี้ไคลทอนซิลมักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เมื่อก้อนดังกล่าวในร่องของต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่กว่าที่ร่องจะรับได้ก็อาจหลุดออกมาเองได้ หรือเมื่อผู้ป่วยไอหรือขากเสมหะแรง ๆ อาจหลุดออกมาให้เห็นได้

ขี้ไคลทอนซิลนั้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะไม่เป็นอันตรายใดๆ เพียงอาจจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเสียไป เช่น อาจรู้สึกไม่มั่นใจ เวลาพูดกับผู้อื่นเนื่องจากมีกลิ่นปาก

นิ่วทอนซิล หรือ ขึ้ทอนซิล (Tonsilloliths / tonsil stones / tonsillar calculi) เป็นกลุ่มของหินปูนหรือแคลเซียม (Calcified material และเป็นการสะสมของเซลล์ที่ตายแล้ว เศษอาหาร และเมือก (Mucus) ที่จับกันอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล (Tonsillar crypts) นอกจากนี้กรณีผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือติดเชื้อที่หู ก็อาจทำให้ของเหลวไหลเข้าสู่ต่อมทอนซิลได้เช่นกัน

นิ่วทอนซิลมักเกิดที่ต่อมทอนซิลบริเวณที่อยู่ด้านข้างของช่องปาก หรือที่เรียกกันว่า พาลาทีนทอนซิล (Palatine tonsils) และอาจเกิดที่ต่อมทอนซิลบริเวณโคนลิ้น (Lingual tonsils) ได้ มีสีขาวหรือเหลือง และเคยมีการบันทึกว่า ก้อนนิ่วนี้มีน้ำหนักตั้งแต่ 0.3 – 42 กรัม

แหล่งข้อมูล

1. ขี้ไคลทอนซิล. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000012442[2016, February 29].

2. Tonsillolith. https://en.wikipedia.org/wiki/Tonsillolith[2016, February 29].

3. Tonsil Stones (Tonsilloliths). http://www.webmd.com/oral-health/guide/tonsil-stones-tonsilloliths-treatment-and-prevention[2016, February 29].

4. Removing Tonsil Stones. http://www.therabreath.com/removing-tonsil-stones.html[2016, February 29].