ขาดส้วมเมื่อใด เป็นเรื่องเมื่อนั้น (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ขาดส้วมเมื่อใด_เป็นเรื่องเมื่อนั้น

ด้าน นพ.พิษณุ แสนประเสริฐ รองอธิบดี กรมอนามัย ได้เคยกล่าวว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นการสร้างสุขลักษณะในการใช้ห้องน้ำตั้งแต่ในวัยเด็กซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้มีสุขลักษณะในการใช้ส้วมอย่างถูกต้องไปตลอด โดยเด็กในศูนย์เด็กเล็กจะได้รับการสอนทั้งวิธีใช้ส้วมและการล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยป้องกันโรคติดต่อได้มาก

นอกจากนี้ ยังพบว่าการที่ส้วมไม่ถูกลักษณะ เช่น สกปรก ใช้ไม่สะดวก มืด ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากเข้าส้วมและกลั้นไม่ยอมขับถ่ายตามปกติด้วย

ส้วม หรือ สุขา (Toilet) ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง "ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ" เป็นสถานที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ในหลายประเทศจะสร้างส้วมและที่อาบน้ำอยู่ในห้องเดียวกัน ในขณะที่บางประเทศจะแยกออกเป็นห้องส้วมและห้องอาบน้ำ

ส้วมมีความสำคัญ เพราะส้วมที่ไม่มีสุขอนามัยที่ดีอาจเป็นบ่อเกิดของโรคหรือความเจ็บป่วยที่มีน้ำเป็นสื่อในการแพร่กระจาย (Waterborne diseases) เช่น อหิวาตกโรค (Cholera) และท้องร่วง (Diarrhea)

ส้วมมีหลายประเภท เช่น ส้วมชักโครก (Flush toilet) ส้วมหลุม (Pit toilets) ส้วมเคมี (Chemical Toilets) ที่มีการใช้สารเคมีย่อยสลายสารอินทรีย์และทำลายเชื้อโรคในสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

Chuck Gerba, Ph.D. ศาสตราจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอริโซน่า ได้กล่าวว่า เชื้อโรคสามารถมีอยู่ในทุกแห่งของห้องน้ำ ทั้งราวจับ กระดาษชำระ และแม้แต่ชั้นวางของ แต่จุดที่มีเชื้อโรคมากที่สุดก็คือ บริเวณพื้นห้องน้ำ

เพราะจากการวิจัยพบว่า เมื่อมีการกดชักโครก จะมีละอองน้ำแพร่กระจายในอากาศและตกบนพื้นผิว ละอองเหล่านี้สามารถเป็นตัวนำเชื้อแบคทีเรียของโรคติดเชื้อทางอุจจาระ (Fecal-borne diseases) เช่น เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) หรือเชื้อชิเจลลา (Shigella)

ต่อไปนี้เป็น พฤติกรรมการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่ง ควรส่งเสริมให้ประชาชน หรือผู้ใช้บริการเห็นความสําคัญ เกิดความตระหนักและปฏิบัติจนเป็นนิสัย โดยพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ คือ

  1. นั่งบนโถส้วม
  2. ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถแบบชักโครก
  3. ไม่ทิ้งวัสดุอื่นลงในโถส้วม
  4. ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม
  5. ล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม
  6. ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดส้วมเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค
  7. ควรใช้วิธีการแขวนของใช้ส่วนตัว เช่น กระเป๋า ถุง มากกว่าการวางบนพื้น

อนึ่ง การนั่งยองๆ ขณะขับถ่าย ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 5 นาทีต่อคน สามารถทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก เส้นเลือดที่เลี้ยงขาถูกกดทับ เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้ขาชา หรืออ่อนแรง หน้ามืด อาจล้ม ศีรษะฟาดพื้นห้องส้วมได้

บรรณานุกรม

1. Toilet. https://en.wikipedia.org/wiki/Toilet [2016, November 17].

2. The Least Disgusting Way to Use a Public Toilet, According to Experts. http://greatist.com/grow/how-to-use-public-toilet [2016, November 17].

3. แผนพัฒนาส้วมสาธารณะไทย. http://www.thaihealth.or.th/Content/3012-แผนพัฒนาส้วมสาธารณะไทย.html [2016, November 17].

4. หนุนเด็กใช้ส้วมมาตรฐาน. http://www.thaihealth.or.th/Content/2902-หนุนเด็กใช้ส้วมมาตรฐาน.html [2016, November 17].