ขาดวิตามินดี มีโอกาสซึมเศร้า (ตอนที่ 1)

Dr. Sonal Pathak แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาต่อมไร้ท่อ (Endocrinology) แห่ง Bay Health Endocrinology เมืองโดเวอร์ รัฐเดลาแวร์ ในสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยพบว่าการขาดวิตามินดีอาจมีผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า (Depression) ได้ทั้งนี้จะต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปอีก

แพทย์หญิง Sonal Pathak ได้ทำการวิจัยเล็กๆ ในหญิงจำนวน 3 คนที่มีอายุระหว่าง 42 – 66 ปี ซึ่งกำลังใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) อยู่ โดยหญิงเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการรักษาโรคเบาหวานชนิด 2 (Type 2 diabetes) และภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroid / underactive thyroid) ด้วย

หญิงทั้งหมดมีลักษณะของการขาดวิตามินดี กล่าวคือมีระดับวิตามินดีในเลือดอยู่ที่ 8.9 - 14.5 นาโนแกรมต่อมิลลิลิตร (ng/mL) ซึ่งปกติตามหลักของวิทยาต่อมไร้ท่อ ถือว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดอยู่ต่ำกว่า 21 ng/mL เป็นผู้ที่ขาดวิตามินดี และผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดอยู่สูงกว่า 30 ng/mL ถือว่าปกติ

หญิงเหล่านี้ได้รับการรักษาด้วยวิตามินดีเป็นเวลานาน 8 – 12 สัปดาห์ เพื่อให้ผลเลือดกลับมาที่ระดับปกติ หลังการรักษาพบว่าผลเลือดอยู่ที่ระดับ 32 - 38 ng/mL และมีอาการของโรคซึมเศร้าที่ดีขึ้น โดยหญิงรายหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากอาการของโรคซึมเศร้าที่รุนแรงมาเป็นระดับที่เบาลง ส่วนคนอื่นมีอาการของโรคซึมเศร้าเพียงเล็กน้อย

แพทย์หญิง Sonal Pathak กล่าวว่าภาวะโรคซึมเศร้าและวิตามินดีมีความสัมพันธ์กันเหมือนถนนเดินรถ 2 ทาง (Two-way street) ผู้ที่มีภาวะโรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงสูงในการขาดวิตามินดี เพราะคนเหล่านั้นมักจะอยู่เฉพาะในบ้าน ไม่ยอมออกกำลังกาย และไม่ยอมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ในสมองของมนุษย์มีตัวจับ (Receptors) วิตามินดีอยู่ ซึ่งช่วยทำให้มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ปกติ แพทย์หญิง Sonal Pathak กล่าวว่า เป็นปกติอยู่แล้วที่ผู้ที่มีภาวะโรคซึมเศร้าจะมีการขาดวิตามินดี และการเพิ่มวิตามินดีก็มีผลแตกต่างมากมายต่อความรู้สึกของคนเหล่านั้น

Dr. Michael Holick แพทย์วิจัยทางด้านวิตามินดี ผิวหนัง และกระดูก แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัส กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับวิตามินดีมักจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้น วิตามินช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ที่สมอง ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนสารเคมีที่ใช้รักษาภาวะโรคซึมเศร้าโดยส่วนใหญ่

Dr. Erin LeBlanc นักวิจัยและศึกษาวิทยาต่อมไร้ท่อ แห่งสถาบันวิจัยสุขภาพ Kaiser Permanente สำนักงานใหญ่ในโอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในผลกระทบของวิตามินดีที่มีต่อร่างกายส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากผลกระทบที่มีต่อกระดูก

วิตามินดีรับการขนานนามว่า เป็นวิตามินแสงอาทิตย์ (Sunshine vitamin) เพราะร่างกายมนุษย์สามารถที่จะสังเคราะห์วิตามินดีได้จากคลอเรสเตอรอลเมื่อได้รับแสงอาทิตย์ที่พอเพียง

วิตามินดีใช้เป็นส่วนผสมในนมและอาหารอื่นๆ และสามารถพบได้เป็นจำนวนเล็กน้อยในปลาที่มีไขมันอย่าง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ตับวัว เนย และไข่แดง เนื่องจากเราไม่สามารถหาวิตามินดีได้เต็มที่จากอาหาร ดังนั้นวิตามินดีจึงกลายเป็นอาหารเสริม (Supplements) ไปด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Vitamin D deficiency Linked to Depression. http://www.webmd.com/depression/news/20120627/vitamin-d-deficiency-linked-to-depression [2012, July 9].