คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: ขั้นตอนการทำงานของแพทย์รักษามะเร็ง
ตอนที่ 12 การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดที่ 2

ปัจจุบัน โรคมะเร็งเป็นโรคที่ยังไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน เพียงแต่รู้ปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งจึงไม่เหมือนการรักษาโรคอื่นๆที่ การรักษาคือรักษาสาเหตุ แต่การรักษาโรคมะเร็ง คือ การฆ่า หรือ กำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายโดยขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาสาเหตุ นอกจากนั้น คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังนั้น โรคมะเร็งเมื่อรักษาหายแล้ว จึงมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำ และมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคมะเร็งชนิดอื่นๆและ/หรือของอวัยวะอื่นๆได้อีก (เรียกว่า มะเร็งชนิดที่ 2) เพราะสาเหตุยังคงอยู่ในร่างกายเรา เช่น พันธุกรรม เชื้อชาติ หรือแม้แต่สภาพทางภูมิศาสตร์จากถิ่นที่อยู่อาศัยของเราหรือจากสารก่อมะเร็งต่างๆที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมและจากที่เราบริโภค

โรคมะเร็งชนิดที่ 2อาจมี ที่ 3 ที่ 4 และ ฯลฯ คือโรคมะเร็งอีกชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้ในอวัยวะที่เคยเกิดมะเร็งมาแล้ว หรือ เกิดในอวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่อวัยวะเดิม เช่น เคยเป็นมะเร็งกล่องเสียง (เรียกว่า เป็นมะเร็งชนิดที่ 1 /First primary Cancer) แต่ภายหลังรักษาหายแล้ว ต่อมาตรวจพบว่า ผู้ป่วยเป็น โรคมะเร็งหลอดอาหาร แพทย์จะเรียกโรคมะเร็งหลอดอาหารว่า โรคมะเร็งชนิดที่ 2 (Second primary cancer) ถ้าต่อมาพบเป็นโรคมะเร็งผิวหนังอีก ก็เรียกโรคมะเร็งผิวหนังว่า เป็นโรคมะเร็งชนิดที่ 3 (Third primary cancer) เป็นต้น ซึ่งถ้าพบมะเร็งหลายชนิดเกิดในคนๆเดียว เรียกว่า เป็น Multiple primary cancer แต่โดยทั่วไป มักพบเพียงโรคมะเร็งชนิดที่ 2 ทั้งนี้ บางครั้งอาจพบโรคมะเร็งชนิดที่ 1 และ 2 เกิดขึ้นพร้อมๆกันก็ได้ แต่พบได้น้อยกว่า เรียกมะเร็งที่เกิดพร้อมๆกันนี้ได้อีกชื่อว่า Synchronous cancer และเรียกมะเร็งที่เกิดตามกันมา ไม่ใช่เกิดพร้อมกันว่า Metachronous cancer

ทั้งนี้ วิธีตรวจวินิจฉัยและวิธีจัดระยะโรคของมะเร็งชนิดที่ 2,3, ฯลฯ มีขั้นตอนเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งชนิดที่ 1 ซึ่งวิธีรักษา รวมทั้งผลการรักษาก็ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง อวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะโรคของโรคมะเร็งชนิดที่ 2 ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งชนิดแรก อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงยังมีโอกาสรักษาได้หาย ซึ่งต่างจากการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่ง คือ โรคระยะที่ 4 หรือ ระยะสุดท้ายที่โอกาสรักษาได้หายจะน้อยมากๆ

ดังนั้น การตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งชนิดที่ 2 จึงช่วยเพิ่มโอกาสรักษาโรคให้หายได้สูงขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยลง ซึ่งโรคมะเร็งชนิดที่ 2 ที่แพทย์จะตรวจให้ เพราะเป็นการตรวจคัดกรองที่ประสิทธิภาพ กล่าวคือ เมื่อตรวจพบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการและได้รับการรักษา โอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งชนิดนี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งปัจจุบัน มีเพียง 3 โรคเท่านั้น คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแพทย์ต้องพูดคุยแนะนำกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป เนื่องจากการตรวจเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก เป็นการตรวจที่อาจก่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

ดังนั้น แพทย์จึงมักให้การตรวจเฉพาะโรคมะเร็ง 3 ชนิดนี้เท่านั้น ส่วนโรคมะเร็งอื่นๆ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจที่มีประสิทธิภาพพอ จึงจำเป็นต้องใช้การดูแลด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆต่อการเกิดโรคมะเร็ง