คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: ขั้นตอนการทำงานของแพทย์รักษามะเร็ง
ตอนที่ 11 ดูแลรักษาเรื่องผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน

ในการดูแลเรื่องของผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการรักษา แพทย์รักษามะเร็งจะดูแลแนะนำใน 2 เรื่องหลัก คือ การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดหรือเพื่อลดความรุนแรงกรณีผลข้างเคียงจำเป็นต้องเกิด และการรักษาเมื่อเกิดผลข้างเคียงขึ้นแล้ว

  1. การดูแล แนะนำ เพื่อป้องกันผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการการรักษาหรือป้องกันความรุนแรงถ้าผลข้างเคียงนั้นๆจำเป็นต้องเกิด โดยวิธีการคือ แพทย์จะสอบถามอาการทางการแพทย์ต่างๆ สอบถามถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียง (เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัวต่างๆ) การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้ป่วยที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงและ/หรือต่อความรุนแรงของผลข้างเคียงถ้าเกิดขึ้น เช่น การตรวจวัดสัญญาณชีพ (ชีพจร อัตราการหายใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิร่างกาย/วัดปรอท/วัดไข้) การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด (โรคเบาหวาน) ไขมันในเลือด (โรคไขมันในเลือดสูง) การทำงาน ของตับ (ดูโรคตับ) ไต (ดูโรคไต) และต่อมไทรอยด์ (ดูโรคต่อมไทรอยด์) ทั้งนี้โรคสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้สูง รวมทั้งถ้าเมื่อเกิดแล้ว ความรุนแรงของผลข้างเคียงจะสูงขึ้น คือโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูงโรคความดันโลหิตสูงโรคความดันโลหิตต่ำโรคไต โรคตับ และภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ทั้งนี้เพราะโรคเหล่านี้ มักก่อให้เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของเซลล์ต่างๆ เซลล์ขาดเลือด ซึ่งเมื่อเซลล์มีการบาดเจ็บเสียหายจะส่งผลให้การซ่อมแซมตัวเองเป็นไปได้น้อยหรือเป็นไปไม่ได้

    การสอบถามและการตรวจต่างๆเหล่านี้ เพื่อแพทย์จะได้ให้การแนะนำ ดูแล รักษา หรือปรึกษาส่งต่อผู้ป่วยต่อแพทย์อายุรกรรมทั่วไป หรือกรณีโรคร่วมเหล่านี้รุนแรง ก็อาจส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์โรคหัวใจ เพื่อการควบคุมโรคความดันโลหิตสูงที่ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย เป็นต้น

    ดังนั้น เมื่อมีโรคประจำตัวต่างๆ ผู้ป่วยโรคมะเร็งและครอบครัวจึงจำเป็นต้องช่วยกันดูแลเพื่อ ป้องกัน รักษา ดูแล เพื่อควบคุมโรคเหล่านั้นให้ได้เสมอ เพราะโรคต่างๆเหล่านี้ จะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรงของผู้ป่วย และโดยทางอ้อม ทั้งจากตัวโรคเองและจากผลข้างเคียงจากการรักษา

  2. การดูแลรักษาผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการรักษาการรักษาผลข้างเคียงจากการรักษา ทั่วไปมักไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถบรรเทาอาการ และป้องกันไม่ให้ผลข้างเคียงรุนแรงมากขึ้นได้ ซึ่งการดูแลรักษาของแพทย์ คือ การสืบค้นหาปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับการแนะนำ ให้ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยเข้าใจ และร่วมมือในการหลีกเลี่ยง และควบคุมรักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่น การทำกายภาพฟื้นฟูอวัยวะนั้นๆตลอดชีวิต ซึ่งผู้ป่วยและครอบครัวมักเบื่อหน่าย และละเลย เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น และหวังว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะรักษาเยียวยาได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การป้องกัน รักษาผลข้างเคียงจากการรักษาขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการดูแลรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยง ทั้งจาก ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวผู้ป่วย และแพทย์ พยาบาล แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ตัวผู้ป่วยเองคะ