ของฝากจากน้ำท่วม (ตอนที่ 22 และตอนจบ)

ของฝากจากน้ำท่วม

การติดเชื้อบาดทะยัก หากไม่รีบรักษาอาการจะยิ่งแย่ลง ในรายที่อาการรุนแรง กระดูกสันหลังจะโค้งไปข้างหลังเพราะกล้ามเนื้อยึด ซึ่งมักพบในเด็ก

ส่วนอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากบาดทะยัก ได้แก่

  • กระดูกหัก (Fractures) – ในรายที่อาการรุนแรง กล้ามเนื้อหดเกร็งมากและชัก อาจทำให้กระดูกแตกหักได้
  • ปอดบวมจากการสำลัก (Aspiration pneumonia)
  • กล่องเสียงหดเกร็ง (Laryngospasm) – ทำให้หายใจลำบาก ผู้ป่วยอาจหายใจไม่ออก (Suffocate)
  • ลมชัก (Tetanic seizures) – กรณีที่เชื้อกระจายเข้าสู่สมอง
  • ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)
  • ไตวายเฉียบพลัน – เพราะการหดเกร็งกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงสามารถทำลายกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal muscle) เป็นสาเหตุให้โปรตีนกล้ามเนื้อ (Myoglobin) รั่วลงสู่ปัสสาวะและไตวายเฉียบพลัน

บาดทะยักส่วนใหญ่เกิดในคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับการกระตุ้นใน 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักจะเป็นส่วนหนึ่งในการฉีด DTaP (Diphtheria and tetanus toxoids and acellular pertussis) ทั้ง 5 ครั้ง ของเด็กเมื่ออายุครบ

  • 2 เดือน
  • 4 เดือน
  • 6 เดือน
  • 15 - 18 เดือน
  • 4 - 6 ปี

ส่วนการฉีดกระตุ้นมักจะฉีดระหว่างอายุ 11 และ 18 ปี หลังจากนั้นจึงฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ดังนั้น หากใครที่ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลและไม่เคยฉีดกระตุ้นในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ก็ควรจะทำการฉีดกระตุ้น

สำหรับการรักษาโรคบาดทะยักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการ

  • รักษาตัวในโรงพยาบาล
  • ให้ยา Human tetanus immune globulin (TIG) เพื่อฆ่าเชื้อ
  • ดูแลบาดแผลเชิงรุก (Aggressive wound care)
  • ให้ยาลดเกร็ง
  • ให้ยาปฏิชีวนะ
  • ฉีดวัคซีนบาดทะยัก

ทั้งนี้ การป้องกันบาดทะยักที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การฉีควัคซีน นอกจากนี้คือ การดูแลรักษาบาดแผลให้สะอาด

บรรณานุกรม

1. Tetanus: Symptoms, Causes, and Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/articles/163063.php [2017, February 6].

2. Tetanus. https://www.cdc.gov/tetanus/about/index.html [2017, February 6].

3. Tetanus. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tetanus/home/ovc-20200456 [2017, February 6].