ของฝากจากน้ำท่วม (ตอนที่ 12)

ของฝากจากน้ำท่วม

ส่วนใหญ่แพทย์จะวิเคราะห์โรคน้ำกัดเท้าด้วยการดูลักษณะของเท้าและถามอาการ หากอาการดูผิดปกติหรือตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี แพทย์อาจจะเก็บตัวอย่างผิวหนังหรือเล็บไปทำการ

  • ตรวจว่ามีเชื้อราที่ผิวหนัง (Potassium hydroxide = KOH) หรือไม่
  • การเพาะเชื้อรา (Fungal culture) เพื่อดูว่าเป็นเชื้อราชนิดไหน

สำหรับการป้องกันการเป็นโรคน้ำกัดเท้าทำได้ด้วยการ

  • รักษาเท้าให้สะอาดและแห้ง
    • เช็ดทำความสะอาดนิ้วเท้าหลังการว่ายน้ำหรืออาบน้ำ
    • สวมรองเท้าที่มีอากาศถ่ายเทได้
    • เมื่ออยู่ในบ้านให้สวมถุงเท้า (ควรเป็นถุงเท้าผ้าฝ้าย) เพื่อซับเหงื่อ และเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน
    • ทาแป้งฝุ่น (Talcum) หรือใช้แป้งฆ่าเชื้อรา (Antifungal powder) โรยเท้า
    • เปลี่ยนรองเท้าและผึ่งรองเท้าไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนใส่รองเท้าอีกครั้ง
    • ใส่รองเท้าแตะเมื่ออยู่ในบริเวณสระน้ำและที่อาบน้ำสาธารณะ
    • ห้ามใช้ครีมทาผิวที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น (Moisturiser) กับเท้า เพราะจะช่วยให้เชื้อราเติบโตได้ดี
    • ขณะเป็นโรคน้ำกัดเท้า หลังการอาบน้ำให้เช็ดบริเวณขาหนีบให้แห้งก่อนเช็ดเท้า ใส่ถุงเท้าก่อนใส่กางเกงใน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เท้าติดไปยังบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณขาหนีบ หรือที่เรียกว่า โรคสังคัง

    ส่วนการป้องกันโรคน้ำกัดเท้ากลับมาเป็นซ้ำ (Athlete's foot recurrence) ทำได้ด้วยการ

    • ทาหรือกินยาต้านเชื้อราให้ครบคอร์ส เพราะแม้อาการจะหายแล้ว แต่เชื้อราที่มีชีวิตก็ยังคงอยู่บนผิวหนังได้นานอีกหลายวัน
    • การซักผ้าด้วยสบู่และน้ำอุ่นอาจไม่สามารถฆ่าเชื้อราได้ ดังนั้นจึงควรซักผ้าด้วยน้ำร้อนและยาฟอกขาว (Bleach) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการฆ่าเชื้อราบนเสื้อผ้า
    • สามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคน้ำกัดเท้าแบบ Toe web infection ด้วยการใช้แป้งทาที่เท้าแห้ง และใส่รองเท้ากว้างที่ไม่เคยติดเชื้อรา

    อนึ่ง โรคน้ำกัดเท้ามักสับสนกับโรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis) ซึ่งในโรคเท้าเหม็นนั้น จะมีลักษณะคล้ายรังผึ้งที่เปียกชื้น (Moist honeycomb) มักเกิดในบริเวณเท้าที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ส้นเท้า (Heel) และเนินปลายเท้า (Ball of the foot) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักไม่มีอาการคัน แต่มีเท้าลอก ผิวหนังดูชื้นแฉะ มีกลิ่นเหม็น และโรคเริ่มเกิดที่ฝ่าเท้าก่อน ในขณะที่โรคน้ำกัดเท้านั้นเกิดจากเชื้อรา มักมีอาการคัน ผิวหนังลอกเป็นขุย และโรคมักเริ่มเกิดที่ซอกนิ้วเท้าก่อน

    บรรณานุกรม

    1. Athlete's Foot - Topic Overview. http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/tc/athletes-foot-topic-overview#1 [2017, January 28].

    2. Athlete's foot. http://www.nhs.uk/Conditions/Athletes-foot/Pages/Introduction.aspx [2017, January 28].