ของฝากจากน้ำท่วม (ตอนที่ 1)

ของฝากจากน้ำท่วม

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) ซึ่งเชื้อโรคนี้อาจปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขังที่เป็นหลุมบ่อเล็กๆ ซึ่งจะมีปริมาณเชื้อโรคเข้มข้น และเชื้อมีชีวิตอยู่ในน้ำ ดินแฉะๆ ได้นานหลายวัน มีโอกาสติดต่อมาสู่คนได้สูง

โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆ ที่ขาและเท้า หรือแม้กระทั่งผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ โดยดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่เป็นเวลา 15 วัน ภายหลังน้ำลด และรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เพื่อป้องกันการป่วยและการเสียชีวิต

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรคที่ต้องเฝ้าระวังอีกโรค คือ โรคตาแดง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา น้ำสกปรกเข้าตา ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง โดยจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามาก ตาบวม จะเป็นอยู่ประมาณ 5-14 วัน

โดยการป้องกันโรคตาแดงนี้ ประชาชนควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย อย่าให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย และหากป่วยเป็นโรคตาแดง ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที และไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายในน้ำ

นอกจากนี้ นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า ต้องเร่งให้ความรู้ประชาชนกับโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ น้ำกัดเท้า เป็นต้น จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 ธันวาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยจากโรคฉี่หนู 2,083 ราย ในภาคใต้พบผู้ป่วย 610 ราย เสียชีวิต 14 ราย

และข้อมูลเฝ้าระวังโรคตาแดงของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 6 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคตาแดงทั่วประเทศ 117,331 ราย ในภาคใต้พบผู้ป่วย 12,890 ราย

โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Leptospira ที่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ในมนุษย์ หรือบางคนก็อาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลย

และหากไม่ทำการรักษา โรคฉี่หนูอาจเป็นสาเหตุให้ไตถูกทำลาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ตับวาย หายใจอึดอัด (Respiratory distress) หรือแม้แต่เสียชีวิต

บรรณานุกรม

1. สธ.เฝ้าระวังโรคฉี่หนูและตาแดงหลังน้ำลด. http://www.thansettakij.com/2016/12/11/119375 [2017, January 17].

2. Leptospirosis. https://www.cdc.gov/leptospirosis/ [2017, January 17].