ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะระดับโลก (ตอนที่ 2)

ขยะอิเล็กทรอนิกส์-2

      

      

      ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste / electronic waste) เป็นขยะที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี จากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งาน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ตู้เย็น หลอดรังสีคาโธด (Cathode ray tubes = CRT) อุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในสำนักงาน และอื่นๆ

      จอแสดงผล (Display units) เช่น CRT, LCD, LED หรือ หน่วยประมวลผลกลางหรือโปรเซสเซอร์ (Processors) เช่น CPU, GPU, APU chips หรือ หน่วยความจำ (Memory) เช่น DRAM หรือ SRAM และอุปกรณ์เครื่องเสียง ล้วนมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันไป โดยโปรเซสเซอร์เป็นสิ่งที่ล้าสมัยได้ง่ายและมักจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปเลย

      ในขณะที่ Modular smartphones or Phonebloks ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถแยกส่วนประกอบในรูปแบบบล็อกได้ง่ายๆ มีส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นอิสระต่อกัน สามารถอัพเกรดหรือเปลี่ยนแปลงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็ใช้ได้ ซึ่งช่วยลดการเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

      ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์

  • ในปี พ.ศ.2549 สหประชาชาติได้มีการประมาณว่า ทั่วโลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 50 ล้านตันต่อปี โดยในแต่ละปีสหรัฐอเมริกามีการทิ้งเครื่องคอมพิวเตอร์ 30 ล้านเครื่อง และยุโรปมีการทิ้งเครื่องโทรศัพท์มือถือ 100 ล้านเครื่อง
  • The Environmental Protection Agency ของสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่า ร้อยละ 15-20 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์จะถูกนำกลับไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือจะถูกทิ้งด้วยการกลบฝัง (Landfills) และเผา (Incinerators)
  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนประมาณร้อยละ 2 ของขยะในอเมริกา ที่ใช้วิธีกลบฝัง แต่เทียบเท่ากับร้อยละ 70 ของขยะที่มีพิษทั้งหมด (Overall toxic waste)
  • ในการรีไซเคิลโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 ล้านเครื่อง จะพบทองแดงหนัก 35,274 ปอนด์ (lbs) เงินหนัก 772 ปอนด์ ทองหนัก 75 ปอนด์ และแพลเลเดียม (Palladium) หนัก 33 ปอนด์
  • การรีไซเคิลแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ (Laptops) 1 ล้านเครื่อง จะช่วยประหยัดพลังงานเท่ากับไฟฟ้าที่ครอบครัวอเมริกัน 3,657 ครอบครัว ใช้ในแต่ละปี
  • เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่ถือว่ามีอันตรายนั้น ได้แก่ โทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ที่มีหลอดรังสีคาโธด CRT จอ LCD (Liquid Crystal Display) โทรทัศน์จอภาพแบบ LCD โทรทัศน์จอภาพแบบ Plasma เครื่องเล่น DVD พกพาที่มีจอ LCD

      ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาถือเป็นผู้นำในการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ตามมาด้วยประเทศจีนที่มีการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 2.3 ล้านตันต่อปี

      โดยมีงานวิจัยฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เมืองเมืองกุ้ยอวี๋ ประเทศจีน (Guiyu, China) ที่กำลังจะตายอันเนื่องมาจากการเป็นศูนย์กลางการรีไซเคิลขยะพิษปริมาณมหาศาล ดังนี้

  • มลพิษทางอากาศไดออกซิน (Airborne dioxins) เพิ่มสูงถึง 100 เท่า กว่าที่เคยตรวจวัดได้
  • ระดับของสารก่อมะเร็ง (Carcinogens) ที่พบในสระเลี้ยงเป็ดและทุ่งนาข้าว ที่สูงเกินกว่ามาตราฐานของพื้นที่ทำการเกษตร ตลอดจนระดับของสารแคดเมี่ยม ทองแดง นิเกล และตะกั่ว ในทุ่งนาข้าวที่สูงเกินกว่ามาตราฐานนานาชาติ
  • โลหะหนักที่พบในฝุ่นตามถนน เช่น พบตะกั่วเกิน 300 เท่า และทองแดงเกิน 100 เท่า จากระดับมาตราฐานฝุ่นของถนนในหมู่บ้าน

แหล่งข้อมูล:

  1. Electronic waste. https://en.wikipedia.org/wiki/Electronic_waste [2018, June 16].
  2. 11 facts About E-Waste. https://www.dosomething.org/us/facts/11-facts-about-e-waste [2018, June 16].