ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะระดับโลก (ตอนที่ 1)

ขยะอิเล็กทรอนิกส์-1

      

      

      จากกรณีอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องขยะรีไซเคิล หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่แหล่งใหญ่เนื่องจากมีประชาชนประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์

      นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนลงพื้นที่ให้ความรู้และตรวจสอบปัญหาการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กับชาวบ้านใน ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ หลังจากพบข้อมูลมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 1,200 ตันต่อเดือน เฉลี่ยตกปีล่ะกว่า 2 หมื่นตัน เนื่องจากส่วนใหญ่ชาวบ้านยึดอาชีพตระเวนรับรับซื้อของเก่า

      โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะนำมาทำการคัดแยกชิ้นส่วนขาย แต่กลับประสบปัญหาการกำจัดขยะเหลือและขยะที่ไม่มีค่าไม่ถูกวิธี และขาดสถานที่จัดเก็บมานานหลายสิบปี จนทำให้บ่อเก็บขยะเล็กทรอนิกส์ของทาง อบต.โคกสะอาดล้นและเกินขีดความสามารถในการกำจัด

      นายประสูตร หอมบรรเทิง นายอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ ต.โคกสะอาด มีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพตระเวนรับซื้อของเก่าทั่วประเทศ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือแล้วนำมาคัดแยกชิ้นส่วนขาย

      นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ ต.โนนศิลาเลิงที่รับซื้อของเก่าที่เป็นจำพวกเครื่องจักรและจักรยานยนต์มาแยกชิ้นส่วน หากรวม 2 พื้นที่ทำให้แต่ละเดือนมีขยะจำพวกเหล่านี้มาเข้าในพื้นกว่า 1,200 ตันต่อเดือน หรือเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นตันต่อปี

      ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เข้ามาให้ความรู้ในการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะวิธีการป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเข้ามาดูแลและตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวัง

      ซึ่งปัจจุบันเท่าที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนนั้น ยังไม่พบว่ามีใครล้มป่วยจากการได้รับสารเคมีในการคัดแยกขยะ แต่เพื่อเป็นการป้องกันเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสุขภาพทุกปี และเฝ้าระวังการใช้ชีวิตอยู่กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเด็ก

      อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัญหาในการคัดแยกขยะที่ไม่มีค่าแล้วนำไปกำจัดไม่ถูกวิธี บางรายลักลอบเผา รวมทั้งสถานที่เก็บขยะหรือบ่อขยะนั้นไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะทะลักเข้ามาในแต่ละปี

      ดังนั้น ทางอำเภอจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการรณรงค์ประชาชนสัมพันธ์ให้กับประชาชนที่คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เสร็จแล้วให้นำไปทิ้งไว้ที่บ่อขยะ ห้ามคัดแยกโดยการเผาอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะขยะจำพวกโฟม พลาสติก และสายไฟ เพื่อไม่ให้กระทบในด้านสิ่งแวดล้อม

      เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบในอนาคต อาจจะค่อยๆ ได้รับสารพิษเข้าร่างกายเรื่อยๆ สะสมจนล้มป่วยเป็นโรคต่างๆ ซึ่งเป็นการตายผ่อนส่ง

แหล่งข้อมูล:

  1. แฉ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ทะลักกาฬสินธุ์ ปีละกว่า 2 หมื่นตัน. https://mgronline.com/local/detail/9610000056285 [2018, June 15].