กินอย่างไรเมื่อปลูกถ่ายไต ตอนที่ 2

กินอย่างไรเมื่อปลูกถ่ายไต

เมื่อปลูกถ่ายเปลี่ยนไตแล้ว ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต การรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้การทำงานของไตที่ปลูกถ่ายมีประสิทธิภาพการทำงานเป็นปกติได้นานเท่าที่จะนานได้ ฉะนั้น การรับประทานอาหารจะต้องเลือกรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันมิให้ไตที่ปลูกถ่ายแล้วทำงานหนักมากจนเกินไป หากไตที่ปลูกถ่ายทำงานหนักมากจนกระทั่งเสื่อม สามารถกลับมาเป็นโรคไตเรื้อรังได้อีกเช่นเดียวกัน

การรับประทานอาหารควรเลือกที่เหมาะสม มีสารอาหารและพลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ไตมีความสามารถในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดูแลเนื้อไตไม่ให้ถูกทำลายมากขึ้นจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายได้ ผู้ป่วยไตวายเมื่อได้รับปลูกถ่ายไตแล้ว มักเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่างตามสบายไม่ต้องควบคุมอาหารอีกต่อไป เพราะคิดว่ามีไตใหม่มาช่วยในการขจัดของเสียในร่างกาย

หลักสำคัญการรับประทานอาหาร

ผู้ป่วยต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงมากที่สุด โดยมีวิธีการคำนวณง่ายๆ ดังนี้

ผู้ชาย = ความสูงเป็นเซนติเมตร – 100 x 0.9โดยให้มีเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร

ผู้หญิง = ความสูงเป็นเซนติเมตร – 100 x 0.8 โดยให้มีเส้นรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตร

เช่น ผู้หญิง 155 เซนติเมตร น้ำหนักตัวมาตรฐาน ควรเป็น 155-100 X 0.8 = 44 กิโลกรัม

การเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีน

อาหารหมวดเนื้อสัตว์ควรได้รับโปรตีนประมาณ 0.8 – 1.0 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมหรือประมาณวันละ 50-60 กรัมโปรตีน (ดูจากตารางประกอบ) หลักสำคัญของการเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนที่รับประทานควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงจากเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา และไข่ขาว ควรรับประทานทุกวัน เพราะมีไขมันน้อย ย่อยง่ายและดูดซึมได้เร็ว สำหรับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังติดมัน สามารถรับประทานได้ทุกชนิด หมุนเวียนแต่ให้อยู่ปริมาณที่สมดุล

ตัวอย่าง : ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ โปรตีน เฉพาะจากเนื้อสัตว์ วันละ 40 กรัมต่อวัน ผู้ป่วยสามารถคำนวณปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์จากตาราง ดังนี้ ไข่ไก่ 1 ฟอง นม 1 แก้ว เนื้อปลา 1 ชิ้น ไก่สับ 10-15 ก้อน คิดเป็น 7+8+11.5+11.5 = 38 กรัม/วัน

เนื้อสัตว์ที่ควรหลีกเลี่ยง

  1. เนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลมาก ได้แก่ ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังไก่ เนื้อหมู เนื้อวัวที่ติดมัน ซี่โครงหมูติดมันมากๆ เป็ดปักกิ่ง หมูสามชั้น หมูกรอบ เป็ดย่าง ไข่ปลา ฯลฯ
  2. เนื้อสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ หรือโปรตีนคุณภาพไม่ดี ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับถ่ายของเสีย ได้แก่ เอ็นสัตว์ต่างๆ เอ็นหมู เอ็นวัว เอ็นไก่ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่ กระดูกอ่อน
  3. น้ำนม เป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี นม 1 กล่อง (240 มิลลิลิตร) มีโปรตีน 8 กรัม ซึ่งเท่ากับเนื้อสัตว์ ในน้ำนมมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซียมสูง จึงรับประทานได้แต่ไม่ควรเกิน 240 ซี.ซี.ต่อวัน หากรับประทานนมก็ต้องลดปริมาณเนื้อสัตว์ในวันนั้นด้วย

อ้างอิง

ประเสริฐ ธนกิจจารุ .โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง. การอบรมแนวทางในการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 - 31 กรกฏาคม 2552 ; โรงพยาบาลราชวิถี. กรุงเทพฯ

ชวลิต รัตนกุล .การดัดแปลงอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง. การอบรมแนวทางในการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 - 31 กรกฏาคม 2552 ; โรงพยาบาลราชวิถี. กรุงเทพฯ

อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ . Nutrition in Acute Kidney Injury. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.