กินหอยหน้าร้อน ระวังขี้ปลาวาฬและเชื้ออหิวาต์เทียม (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

สำหรับเชื้ออหิวาต์เทียม หรือ วิบริโอพารา ฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปท่อนตรงหรือโค้งเล็กน้อย พบในบริเวณน้ำอุ่นหรือน้ำกร่อย ต้องการเกลือในการเจริญเติบโต สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่มีออกซิเจนหรือไม่มีออกซิเจน ที่อุณหภูมิระหว่าง 15-42°C แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่าง 30-35°C

ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม เชื้อแบคทีเรียจะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วโดยจะเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัวทุก ๆ 8-12 นาที ดังนั้นเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะทวีจำนวนขึ้นในลำไส้ โดยเชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือกระเพาะและลำไส้อักเสบ นอกจากการติดเชื้อทางอาหารแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้ทางบาดแผลด้วย เช่น จากการว่ายน้ำ เป็นต้น

การติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการท้องร่วงและปวดช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ และหนาวสั่น โดยมีระยะฟักตัวภายใน 24 ชั่วโมงหลังการกิน อาการป่วยมักจะหายได้เองภายใน 3 วัน แต่อาจยาวได้ถึง 10 วัน สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ (Immunocompromised individuals)

ส่วนใหญ่มักติดเชื้อจากการกินหอยสดหรือหอยที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุก โดยเฉพาะหอยนางรม มักพบในฤดูร้อน ไม่ค่อยพบในฤดูหนาว

สิ่งที่ช่วยวินิจฉัยได้คือ มีประวัติในเกือบทุกรายว่าได้กินอาหารทะเลมาก่อนที่จะเกิดอาการท้องร่วงไม่กี่ชั่วโมง หรือกินอาหารที่มีอาหารทะเลเกี่ยวข้อง เช่น อาหารที่มีเนื้อปูโรยหน้า เป็นต้น

การติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะช่วยลดความรุนแรงหรือลดระยะเวลาที่มีอาการได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากเพื่อชดเชยกับการสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสีย

อย่างไรก็ดี ในรายที่เป็นรุนแรงอาจให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเตตร้าซัยคลิน (Tetracycline) หรือ ยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ทั้งนี้ชนิดของยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับความไวต่อยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial susceptibilities) ของร่างกาย

การป้องกันเชื้อสามารถทำได้โดยการกินอาหารทะเลที่ทำให้สุกและยังร้อนอยู่ เพราะเชื้อมักพบได้ในอาหารทะเล

ในบางรายแม้ว่าจะทำอาหารทะเลให้สุกแล้ว แต่อาจนำไปวางไว้ปะปนกับอาหารทะเลที่ยังไม่ได้ทำให้สุก ทำให้เชื้อผ่านจากอาหารดิบไปยังอาหารสุก จึงควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกัน

นอกจากนี้ยังควรแยกอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร หรือทำความสะอาดอุปกรณ์สำหรับอาหารทะเลก่อนนำไปใช้กับอาหารชนิดอื่น

สำหรับการติดเชื้อทางบาดแผลนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสของบาดแผลเปิดกับน้ำทะเลอุ่นหรือน้ำกร่อย

แหล่งข้อมูล

  1. Vibrio parahaemolyticus. http://en.wikipedia.org/wiki/Vibrio_parahaemolyticus [2014, May 5].
  2. Vibrio parahaemolyticus. http://www.cdc.gov/vibrio/vibriop.html [2014, May 5].