กินหอยหน้าร้อน ระวังขี้ปลาวาฬและเชื้ออหิวาต์เทียม (ตอนที่ 2)

ปรากฏการณ์ ขี้ปลาวาฬ (Red tide) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเล เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างมหาศาลของสาหร่ายเซลล์เดียวในทะเล (Microscopic algae) โดยเฉพาะแพลงตอนจำพวกไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellate)

แต่บางครั้งจำนวนประชากรของสาหร่ายเซลล์เดียวก็มีการเติบโตที่รวดเร็วมากมาย หรือที่รู้จักกันดีว่าคือ Algae bloom ซึ่งรวมกันเป็นแผ่นหนาแน่นเหนือผิวน้ำ ทำให้เห็นน้ำทะเลเป็นสีแดง

ทั้งนี้ความเป็นพิษสามารถถ่ายทอดผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ทำให้สัตว์ที่กินได้รับพิษไปด้วย เช่น หอย ปลา นก แมวน้ำทะเล หรือแม้แต่คน

ปัจจัยที่ส่งเสริมต่อปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ได้แก่ น้ำที่มีอุณหภูมิอุ่น มีสารอาหารมาก มีความเค็มน้อย และคลื่นสงบ การมีฝนตกหลังแดดจัดในช่วงหน้าร้อนมักทำให้เกิดต่อปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ

น้ำที่อยู่ใกล้ชายฝั่งสามารถกลายเป็นสีแดงได้เพราะปรากฏการณ์นี้ อย่างไรก็ดียังมีแพลงตอนที่มีพิษอีกหลายชนิดที่ไม่ทำให้น้ำเปลี่ยนสีก็ได้

นอกจากนี้ยังมีความคิดกันว่า คนเองก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์นี้ โดยเป็นผลมาจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล โดยเฉพาะสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้ปุ๋ยและสารเคมีในภาคการเกษตรอย่างมาก จนเกิดการรั่วซึมของสารเคมีและปุ๋ยลงสู่แหล่งน้ำของชุมชนและทะเล

มีสัตว์น้ำไม่กี่ชนิดที่สะสมสารพิษเหล่านี้ได้ อย่างสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก เช่น หอยเปลือกแข็ง (Hard-shell clams) หอยเปลือกนิ่ม (Soft-shell clams) หอยนางรม (Oysters) หอยแมลงภู่ (Mussels) และหอยแครง (Scallops)

เมื่อสัตว์น้ำประเภทมีเปลือกที่กินอาหารด้วยการกรอง รวมทั้งปลาที่ใช้เหงือกกรองน้ำ ได้รับสารพิษพวกนี้เข้าไป และสารพิษมีความเข้มข้นขึ้น

การกินหอยมีพิษเหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดพิษอัมพาตจากหอย (Paralytic shellfish poisoning = PSP) ในคน โดยมีผลต่อระบบประสาท ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที ทั้งนี้ ความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณพิษที่กินเข้าไป

อาการเบื้องต้นได้แก่ ปากและลิ้นชา และมีอาการชากระจายไปตามใบหน้า คอ ปลายนิ้วมือและเท้า ตามด้วยอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ งุนงง และคลื่นไส้ อาการเหล่านี้จะยิ่งแย่ลงถ้ามีการบริโภคแอลกอฮอล์ร่วมด้วย

ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อและทางเดินหายใจภายใน 5-12 ชั่วโมง ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

เพราะหอยที่มีพิษจะมีรสชาติไม่แตกต่างกับหอยที่ไม่มีพิษ และการปรุงให้สุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ ดังนั้นการทดสอบความเป็นพิษจึงเป็นวิธีการเดียวที่พิสูจน์ได้ โดยระดับความเป็นพิษไม่ควรเกิน 80 ไมโครกรัม ต่อเนื้อหอยหนัก 100 กรัม

แหล่งข้อมูล

  1. FAQs – Red Tide. http://des.nh.gov/organization/divisions/water/wmb/shellfish/faq_redtide.htm [2014, May 4].
  2. Red Tide Fact Sheet. http://www.mass.gov/eohhs/gov/departments/dph/programs/environmental-health/food-safety/red-tide-fact-sheet.html [2014, May 4].