กินซูชิเสี่ยงติดเชื้อวิบริโอ

กินซูชิเสี่ยงติดเชื้อวิบริโอ

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเตือนว่า การรับประทานปลาดิบ ในเมนูอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะในซูชิหรือซาซิมิ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อวิบริโอ (Vibrio) ที่ก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง บิด และอหิวาตกโรค หากเลือกรับประทานจากร้านที่ไม่ได้มาตรฐานความสะอาดจริงๆ

ในขณะที่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมคนญี่ปุ่นกินปลาดิบกันเป็นเมนูประจำวัน ไม่เห็นเป็นอะไรเลย นั่นเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นเมืองหนาว โอกาสที่พยาธิจะเกิดและเติบโตนั้นมีน้อย แต่ประเทศไทยบ้านเรามีอากาศร้อนเป็นหลักแทบจะครบ 365 วัน ดังนั้นจึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี

คนไทยต้องตระหนักว่าการรับประทานอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ระดับหนึ่ง เพราะนอกจากอากาศร้อน กระบวนการขนส่งและจัดเก็บ ก็ไม่อาจดูแลรักษาอุณหภูมิให้ได้มาตรฐานเหมาะเจาะดีพอ

เพราะจากการตรวจสอบปลาดิบนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบว่ามีเชื้อโรคหรือพยาธิแต่อย่างใด แต่เมื่อตรวจในกระบวนการขนส่งหรือจัดเก็บ กลับพบว่ามีเชื้อวิบริโออยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจเป็นเพราะระบบควบคุมอุณหภูมิไม่ดี ทำให้รับเอาเชื้อโรคเข้ามาภายหลัง บางร้านกว่าจะถึงมือผู้บริโภคใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ดังนั้น เพื่อไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวิบริโอ แล้วต้องทุกข์ทรมานจากอาการอาหารเป็นพิษ และอาจร้ายแรงถึงขั้นอหิวาตกโรค จึงควรระวังอย่างยิ่งที่ในการเลือกร้านที่มีมาตรฐาน สะอาดทั้งในส่วนของสถานที่ คนปรุงอาหาร และอุปกรณ์ทำครัว เป็นต้น โดยเฉพาะร้านที่วางขายในกระบะต่างๆ นั้นมีความเสี่ยงมาก หรือขนาดร้านซูชิชื่อดังย่านหรู ก็ยังเคยตกเป็นข่าวทำลูกค้าท้องร่วงเช่นกัน

โรคติดเชื้อวิบริโอ (Vibriosis) เกิดจากเชื้อวิบริโอ Vibrio ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ มีลักษณะรูปร่างเป็นแท่ง (Gram-negative, rod-shaped bacteria) ที่พบในกุ้ง หอย ปู และปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยหรือปากแม่น้ำ สามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วในสภาวะน้ำอุ่นหรือน้ำทะเลในหน้าร้อน

Vibrio มีหลายชนิด แต่ชนิดที่พบมากที่สุดคือ Vibrio parahaemolyticus โดยมีการประเมินว่า ในแต่ละปีชาวอเมริกันจะป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 80,000 ราย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 500 ราย และมีการเสียชีวิต 100 ราย

การติดเชื้อมักเกิดจากการบริโภคอาหารทะเลดิบที่ไม่ได้ทำการปรุงให้สุก อาการมักเกิดภายใน 24 ชั่วโมง และมักป่วยนาน 3 วัน ปกติอาการจะไม่รุนแรง และมักพบในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อที่ผิวหนังจากแผลที่สัมผัสกับน้ำทะเลอุ่น

อาการโดยทั่วไป ได้แก่ ท้องเสีย (Diarrhea) ปวดเกร็งที่ท้อง (Abdominal cramps) คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น (Chill) ติดเชื้อที่แผล และมีภาวะโลหิตเป็นพิษ (Primary septicemia)

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อและเกิดอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์และผู้ที่เป็นโรคตับ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อนี้ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากเพื่อชดเชยกับน้ำที่สูญเสียไปเนื่องจากการท้องเสีย กรณีที่รุนแรงอาจให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Tetracycline หรือ ยา Ciprofloxicin

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อสามารถทำได้โดยการปรุงอาหารทะเลให้สุกก่อนกินและหลีกเลี่ยงแผลเปิดไม่ให้ถูกน้ำทะเลที่อุ่น

แหล่งข้อมูล

1. ซีเรียส! ภูมิอากาศไทยไม่เหมาะหม่ำปลาดิบ ติดเชื้อวิบริโอง่าย ท้องร่วงพลัน อหิวาต์ถามหา. http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000010947&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, March 28].

2. Vibrio Illness (Vibriosis). http://www.cdc.gov/vibrio/ [2016, March 1].

3. Vibriosis in Shellfish. http://www.doh.wa.gov/YouandYourFamily/IllnessandDisease/Vibriosis [2016, March 28].